ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรื่อง เกณฑ์จริยธรรมสําหรับผู้ให้บริการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554
-----------------------
เพื่อให้ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง ประเมินอันตราย และจัดฝึกอบรมหรือให้คําปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนดในพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554 และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรฐานของวิชาชีพ เพื่อการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้อง โปร่งใส ตลอดจนป้องกันมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดําเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ รวมทั้งเพื่อยกระดับการให้บริการให้มีมาตรฐาน เป็นที่น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากล
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
(1) บุคคลผู้ได้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียน
(2) บุคคลผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ชํานาญการ
(3) นิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาต
(4) นิติบุคคลผู้ได้รับการรับรอง
เป็นผู้ให้บริการในการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง ประเมินอันตราย และจัดฝึกอบรมหรือให้คําปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน
“เกณฑ์จริยธรรม” หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของผู้ให้บริการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554
ส่วนที่ 1
เกณฑ์จริยธรรม
------------------
ข้อ 3 ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ยึดมั่นและประพฤติปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมนี้อย่างเคร่งครัดและต้องไม่ฝ่าฝืนเกณฑ์จริยธรรม ดังต่อไปนี้
(1) ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักจริยธรรม และประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
(2) ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้บริการด้วยความถูกต้อง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยคํานึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
(3) ต้องใช้ความรู้ความสามารถเพื่อให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกําหนดและมาตรฐานของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับประเภทการให้บริการ
(4) ต้องใช้อํานาจในการรับรองเอกสารหรือรายงานผลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกําหนดและมาตรฐานของวิชาชีพ
(5) ต้องรักษาข้อมูลที่เป็นความลับของผู้รับบริการ หรือข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผยซึ่งล่วงรู้หรือได้มาจากการให้บริการ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่และกฎหมาย
(6) พึงปฏิบัติต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพอย่างให้เกียรติและเคารพในหลักการแข่งขันที่เป็นธรรม
(7) พึงปฏิบัติต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้รับบริการอย่างให้เกียรติ
(8) พึงแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและการถ่ายทอดประสบการณ์
(9) ไม่ให้ ไม่เสนอให้ หรือรับ ยอมจะรับสิ่งจูงใจ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และบริการอันเป็นกิจส่วนตัวให้แก่ผู้รับบริการเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งขัดต่อมาตรฐานที่กฎหมายกําหนดและมาตรฐานของวิชาชีพ
ส่วนที่ 2
มาตรการการดําเนินการกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรม
------------------
ข้อ 4 กรณีมีการร้องเรียน หรือพบพฤติกรรมการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรม ให้กองความปลอดภัยแรงงานดําเนินการตามกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือพบพฤติกรรมการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรม และรายงานพร้อมทั้งพยานหลักฐานต่ออธิบดีโดยเร็ว
ข้อ 5 การดําเนินการและพิจารณาข้อร้องเรียนตามข้อ 4 หากผลการพิจารณาปรากฏพฤติการณ์การฝ่าฝืนเกณฑ์จริยธรรม ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่ากล่าวตักเตือน หรือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และหากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมอันเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะดําเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2567
(นางโสภา เกียรตินิรชา)
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน