ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




บทสรุปการสำรวจอาคารเพลิงไหม้ article
วันที่ 28/12/2012   00:37:04

 

รายงานผลการสำรวจอาคารเพลิงไหม้ ไทเกอร์ดิสโก้ ภูเก็ต.pdf

 

บทสรุปฉบับนี้จัดทำขึ้นจากความร่วมมือร่วมระหว่าง สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร หลังจากคณะทำงานได้ทำการสำรวจพื้นที่ อาคารไทเกอร์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ถนนบางลา ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ใน วันที่ 19-20 สิงหาคม 2555 

คณะผู้สำรวจ

  1.  พ.ต.ท. ดร. บัณฑิต  ประดับสุข          ประธานกรรมาธิการด้านความปลอดภัยในงานสถาปัตยกรรม
                                                    สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
  2. นายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์              อุปนายกสมาคม คนที่ 1
                                                   สมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร

 

ขอบเขตการทำงาน

  1. สำรวจพื้นที่จริงหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ในด้านความปลอดภัยงานสถาปัตยกรรมและงานตรวจสอบอาคาร
  2. ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงอาคารหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้และข้อเสนอแนะปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕ กฎกระทรวงฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอื่นเพื่อยกระดับความปลอดภัยอาคาร

 

ข้อมูลอาคารเบื้องต้นและความเสียหาย

  1. อาคารสถานบริการประเภท ค (ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕) ซึ่งมีการจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป ขออนุญาตก่อสร้างนานกว่า 10 ปี ชื่ออาคารไทเกอร์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ถนนบางลา ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

    ภาพถ่ายทางอากาศอาคารไทเกอร์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จาก Google Earth ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้


  2.  โครงสร้างอาคาร สูง 2 ชั้น โครงสร้าง ค.ส.ล. สถานบริการแห่งนี้ตั้งอยู่บนชั้น 2 ขนาด กว้าง 20 เมตร ลึก 36 เมตรและมีชั้นลอย เป็นโครงสร้างหลังคาโครงเหล็ก กระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องลอนเล็กและคลุมด้วยเมทัลชีทครอบทับอีกชั้น   พื้นที่ชั้นสอง ประมาณ 756 ตร.ม. พื้นที่ชั้นลอย 344 ตร.ม. รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1,100 ตร.ม. คิดพื้นที่ใช้สอย 70% (ประมาณ 770 ตร.ม.)



ผังพื้นชั้น 1
ผังพื้นชั้นลอย

ภาพด้านหน้าอาคาร

        ด้านหน้า ทิศใต้ ของอาคารเป็นถนนกว้าง 8 เมตร การจราจรกำหนดให้รถวิ่งได้ทิศทางเดียว มีรถดับเพลิงจำนวน 2 คัน และด้านข้าง ทิศ ตะวันตก เป็นถนนกว้าง 4 เมตร รถดับเพลิงเล็กเข้าดับเพลิงที่เกิดเหตุ จำนวน 3 คัน ห่างจากถนนด้านหน้า 20 เมตร ทิศตะวันออกของอาคารติดกับอาคารอื่นมีพื้นที่ทางเดินประมาณ 2 เมตร ทิศเหนือติดกับร้านอาหาร

 

ลักษณะการใช้อาคารปัจจุบัน ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้

ชั้นล่างอาคาร ทำกิจกรรมเป็นสถานบริการบาร์เต็มพื้นที่ของอาคาร มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เปิดเพลง มีผู้ใช้อาคารเต็มพื้นที่ ไม่มีผนังที่ปิดล้อมด้านข้างอาคารในด้านทิศใต้และทิศตะวันตก

หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ชั้นนี้ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด 

 

ชั้น 1 (ชั้นสองของอาคาร) และชั้นลอย ทำกิจกรรมเป็นสถานบริการเต็มพื้นที่ของอาคาร มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เปิดเพลง มีเวทีแสดงดนตรี มีผู้ใช้อาคารเต็มพื้นที่ มีผนังปิดล้อมด้านข้างอาคารทุกด้าน

หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ชั้นนี้ได้รับความเสียหาย หลายส่วน เช่น

โครงหลังคายุบตัวลงมาโดยเฉพาะส่วนท้ายตรงกลางของอาคาร มีการยุบตัวของโครงหลังคา ประมาณ 2 เมตร จากความสูงเดิม

วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งภายในประกอบด้วยผนังรอบด้าน

   2.1 ผนังตกแต่งเป็นเฟอร์โรซีเมนต์

   2.2 ใช้โฟม(EPS)และโพลียูรีเทนท์(PU) ตกแต่งผนังประมาณ 20-30 % 

   2.3 เฟอร์นิเจอร์ประกอบด้วยโต๊ะไม้  เหล็ก เบาะฟองน้ำ

        วัสดุที่ตกแต่งเพดานและผนังที่เป็นโฟมโพลีสไตร์ลีน(EPS) โดยส่วนใหญ่ไหม้ไฟเกือบทั้งหมด ซึ่งจากผลดังกล่าวอาจจะกล่าวได้ว่าวัสดุดังกล่าวเป็นวัสดุที่ติดไฟและมีการลุกติดไฟและหลอมหยดจากฝ้าลงสู่พื้นชั้น 1 นอกจากการลุกติดไฟของวัสดุดังกล่าวยังมีควันที่เกิดจากการเผาไหม้ (จากการให้การของพนักงานดับเพลิงที่ผจญเหตุการณ์) ซึ่งน่าจะเป็นทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์แต่จำนวนไม่มากนัก

            3 เนื่องจากหลังคาที่สูงจากพื้นชั้น 1 มีความสูง 6.6 เมตร การใช้ถังดับเพลิง ชนิด ผงเคมีแห้ง  4A 5B ที่กำหนดในมาตรฐานอุตสาหกรรม สามารถดับไฟได้แต่เนื่องจากผู้ผจญเพลิงไม่สามารถฉีดผงเคมีไปยังฐานของไฟที่อยู่สูงกว่า 6.6 เมตรได้ ดังนั้น การลามไฟจึงไปในแนวกว้างหรือแนวที่ถังดับเพลิง ชนิดผงเคมีแห้งไม่สามารถดับได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพนักงานดับเพลิงมาถึงที่เกิดเหตุพร้อมกับรถน้ำดับเพลิง ที่ระดมกำลังฉีดน้ำจำนวน 5 หัวฉีดและสามารถควบคุมเพลิงได้ทุกพื้นที่หลังจากฉีดน้ำไปนานกว่า 30 นาที

             4 ประตูทางออกมีทั้งหมด 7 ประตู มีความกว้างรวม 8.3 เมตร จากการคำนวณประเภทการใช้อาคารสามารถรองรับคนได้ 770 คนและต้องการทางออกไม่น้อยกว่า 5 แห่งและมีความกว้างรวม 6.16 เมตร (0.8 เซนติเมตรต่อคน)

 

สิ่งที่ตรวจพบ ในที่เกิดเหตุ

  1. พบตำแหน่งผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ศพ บริเวณชั้นลอยด้านท้ายของอาคารทางบันไดทางขึ้น ห่างจากทางหนีไฟประมาณ 4-6 เมตร
  2. ความเสียหายของอาคารมากที่สุดอยู่ที่บริเวณตรงกลางชั้นลอย โครงสร้างหลังคาเหล็กเสียรูปทรงจากแนวเดิม เสาเหล็กรับชั้นลอยมีความเสียหายจนเกิดการผิดรูป
  3. มีการใช้ถังดับเพลิงแบบมือถือแบบผงเคมีแห้ง Fire rating 4A5B มากกว่า 40 ถัง  และมีบางถังไม่สามารถนำมาใช้งานได้เนื่องจากติดตั้งสูงกว่า 1.5  เมตร (ประมาณ 1.8 เมตร)
  4. พบการใช้ประตูทางออกทุกประตูแต่ประตูหนีไฟบางประตูไม่ทำด้วยวัสดุไม่ติดไฟและบันไดไม่ต่อเนื่องถึงชั้นพื้นดิน จำนวน 2 แห่ง
  5. ไม่พบอุปกรณ์สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทั้ง แบบมือและอัตโนมัติ
  6. พบวัสดุตกแต่งอาคารที่ประกอบด้วยโฟม เก้าอี้ โต๊ะ เบาะหนัง ไหม้ไฟ
  7. ไฟแสงสว่างฉุกเฉินและป้ายทางหนีไฟไหม้และเสียหาย
  8. โครงสร้างชั้นล่างของอาคารไม่พบความเสียหาย

สิ่งที่ต้องปรับปรุง

          เพื่อให้สอดคล้องตาม กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕(1)  และกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒(2)

  1. ใช้วัสดุตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดาน จะต้องเป็นวัสดุที่ติดไฟหรือลุกไหม้ที่มีอุณหภูมิที่สูงกว่า 750 องศาเซลเซียส และมีค่าการลามไฟที่ต่ำและการกระจายควันน้อย(1)
  2. ระบบการเดินสายไฟฟ้าของระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินและป้ายทางหนีไฟไม่สามารถทนไฟได้นานกว่า 1 ชั่วโมงทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวไม่ทำงานตามสภาวะปกติ บางตำแหน่ง(2)
  3. ต้องจัดให้มีอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือและอัตโนมัติให้ครอบคลุมทั้งอาคาร(2)
  4. การปรับตำแหน่งติดตั้งถังดับเพลิง สูงจากพื้นไม่เกิน 1.5 เมตรและจุดต่ำสุดไม่น้อยกว่า 0.1 เมตร(1),(2)
  5. ทางออกและประตูทางออก มีทางออกบางเส้นทางไม่ต่อเนื่องถึงพื้นดิน มีบางประตูที่ไม่ทำด้วยวัสดุ (ทนไฟ) ที่ไม่ติดไฟ(2)
  6. ต้องติดป้ายแสดงความจุคนที่สามารถรองรับจำนวนสูงสุดของผู้ใช้อาคาร(1)
  7. ต้องจัดทำแผนผังทางหนีไฟทุกชั้น แสดงไว้หน้าบริเวณทางเข้าสถานประกอบการ(2)
  8. ต้องจัดให้มีการซ้อมดับเพลิงเบื้องต้นและอพยพหนีไฟทุกปี และกำหนดหน้าที่ให้พนักงานเป็นผู้นำในการอพยพหนีไฟ(1)
  9. ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารทุกปี โดยตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี และตรวจสอบประจำปีทุกปี  ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อเสนอแนะอื่นเพื่อยกระดับความปลอดภัยอาคาร

  1. ควรมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ซึ่งประกอบด้วยระบบท่อยืน ตู้ฉีดน้ำดับเพลิง ที่เก็บน้ำสำรองและหัวรับน้ำดับเพลิง หรือมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
  2. การเดินสายระบบไฟฟ้า ระบบเสียงและระบบสัญญาณต่างๆให้เดินในรางหรือท่อร้อยสายไฟซึ่งทำด้วยโลหะ
  3. ควรเพิ่มระบบระบายอากาศได้โดยธรรมชาติหรือต้องติดตั้งระบบควบคุมการแพร่กระจายของควัน เช่น พัดลมดูดควันออกจากพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ให้เพียงกับขนาดพื้นที่

ข้อเสนอแนะสำหรับความปลอดภัยในการประเภทอาคารสถานบริการ

  1. จัดให้มีการเผยแพร่ความรู้ในเรื่อง กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยวิธีต่างๆ เช่น การจัดสัมมนา ประชาสัมพันธ์
  2. สร้างความตระหนักให้กับสถาปนิกและวิศวกร ผู้ออกแบบ  และ เจ้าของอาคารอาคารสถานบริการ
  3. จัดให้มีงานตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย

 

 

                      นายวิเชียร  บุษยบัณฑูร                                           นายสมิตร โอบายะวาทย์

นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร      นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

 

 

 

 

 




เรื่องน่าสนใจ

อัตราค่าบริการตรวจสอบอาคาร วันที่ 29/08/2013   07:17:48
หนังสือแนะนำสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร วันที่ 20/04/2017   15:36:01 article
ราคาแนะนำตรวจสอบอาคาร อาคารอยู่อาศัยรวมขนาด 2000-5000 ตารางเมตร วันที่ 28/12/2012   00:35:26 article
ช่องรับร้องเรียน วันที่ 30/09/2012   20:06:13
ดาวน์โหลดไฟล์หลักเกณฑ์ตรวจสอบอาคาร ๙ ประเภท วันที่ 28/12/2012   00:36:07 article
หลักเกณฑ์ตรวจสอบอาคาร ๙ ประเภท วันที่ 25/11/2015   15:57:37 article



Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th