เรียนผู้ตรวจสอบอาคารนิติบุคคลสมาชิก และผู้ตรวจสอบอาคารบุคคลสมาชิก
จากเหตุการณ์บันไดเลื่อนหนีบขาเด็ก ๓ ขวบขาดเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๕ และบันไดเลื่อนหนีบศีรษะเด็กหญิงอายุ ๑๒ ปี เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นเหตุน่าสลดใจอย่างยิ่ง และมีความเป็นไปได้ที่บันไดเลื่อนอีกหลายแห่งอาจจะมีความไม่ปลอดภัยในการใช้งานในลักษณะคล้ายคลึงกัน เพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เศร้าสลดที่อาจจะเกิดซ้ำอีก สมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร จึงได้หารือร่วมกับสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย กำหนดคำแนะนำสำหรับผู้ตรวจสอบอาคารในการเข้าตรวจสอบบันไดเลื่อนเพื่อความปลอดภัยในอาคารที่ตนเองรับผิดชอบในการตรวจสอบอาคาร และคำแนะนำมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติมสำหรับแนะนำให้กับเจ้าของอาคาร ดังนี้
๑ ในกรณีที่บันไดเลื่อนติดตั้งโดยมีระยะห่างจากผนังหรือขอบเพดาน น้อยกว่าระยะปลอดภัย คือ 50 เซนติเมตร ให้ผู้ตรวจสอบอาคารแนะนำให้เจ้าของอาคาร ทำการติดตั้งป้ายเตือน ที่มีขนาดความสูงของป้ายไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ติดตั้งในระนาบแนวดิ่งเดียวกับราวบันได เหนือราวบันไดในระดับศีรษะ ก่อนถึงจุดอันตรายที่ ระยะห่าง 50 เซนติเมตร (๑ วินาที) โดยมีข้อความว่า “ห้ามชะโงก ระวังอันตรายศีรษะ ในอีก ๑ วินาที” และแนะนำให้เพิ่มป้ายที่ระยะห่าง 100 เซนติเมตร (๒ วินาที) โดยมีข้อความว่า “ห้ามชะโงก ระวังอันตรายศีรษะ ในอีก ๒ วินาที” เพื่อเตือนผู้ใช้บันไดเลื่อนโดยการมองเห็น หรือสัมผัสโดน และให้เวลากับผู้ประสบเหตุในหลีกหนีอันตรายก่อนถึงจุดอันตราย
๒ ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารทำการตรวจสอบ และ/หรือ ให้คำแนะนำผู้ดูแลอาคาร ทำการตรวจสอบหวีบันได หากพบหวีบันไดแตกหัก ให้แนะนำเจ้าของอาคาร หยุดการใช้งานบันไดเลื่อนโดยทันทีจนกว่าจะมีการซ่อมเปลี่ยนหวีบันไดใหม่ให้เรียบร้อย และงดใช้อะไหล่หวีบันไดที่ไม่ใช่ของผู้ผลิตลิฟต์ หรือหวีบันไดที่ดัดแปลงขึ้นเอง ซึ่งอาจมีผลต่อระดับความปลอดภัยลดลง
๓ ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารทำการตรวจสอบ และ/หรือ ให้คำแนะนำผู้ดูแลอาคาร หมั่นตรวจการเคลื่อนที่ของราวบันไดกับบันไดเลื่อน หากพบว่า ราวบันไดข้างใดข้างหนึ่งเสีย หรือราวบันไดข้างใดข้างหนึ่งเคลื่อนที่ไม่สัมพันธ์กับบันไดเลื่อน ให้แนะนำเจ้าของอาคาร หยุดการใช้งานบันไดเลื่อนโดยทันทีจนกว่าจะมีการซ่อมแซมแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย
๔ ให้มีป้ายคำแนะนำ/ข้อควรระวังในการใช้บันไดเลื่อน ติดไว้ที่บันไดเลื่อนที่เห็นได้ชัดเจน ดังนี้
๔.๑ ไม่ควรให้เด็กใช้บันไดเลื่อนโดยลำพัง
๔.๒ ห้ามชะโงกศีรษะออกนอกราวบันได
๔.๓ งดใช้บันไดเลื่อนสำหรับผู้ที่สวมรองเท้าแตะที่มีลักษณะยืดหยุ่นสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงอันตรายที่จะถูกบันไดเลื่อนดูดเข้าไปในช่องว่างระหว่างขั้นบันได
๔.๔ ตรวจระวังเชือกรองเท้า ปลายกางเกง ชายกระโปรง หรือ สิ่งใดที่ห้อยใกล้กับพื้นบันไดเลื่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงอันตรายที่จะถูกบันไดเลื่อนดูดเข้าไปในช่องว่างระหว่างขั้นบันได
๔.๕ ใช้บันไดเลื่อนด้วยความระมัดระวัง เตือนสติขณะกำลังก้าวเข้าบันไดเลื่อน ระวังสะดุดหกล้ม ซึ่งอาจได้รับบาดเจ็บ หรือ มีความเสี่ยงอันตราย จากเส้นผม อวัยวะของร่างกาย หรือเสื้อผ้า ถูกบันไดเลื่อนดูดเข้าไปในช่องว่างระหว่างขั้นบันได
๔.๖ คำอธิบายวิธีใช้ปุ่มหยุดบันไดเลื่อนฉุกเฉิน และแสดงตำแหน่งที่ติดตั้งของปุ่มหยุดฉุกเฉินให้ชัดเจน
สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยอื่นๆ ของบันไดเลื่อน ขอให้ผู้ตรวจสอบอาคาร ศึกษาเพิ่มเติม จากมาตรฐานระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ ของสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย
พร้อมกันได้แนบ Layout ทั้งมาตรฐานยุโรป และมาตรฐานญี่ปุ่น สำหรับไว้อ้างอิง
ด้วยความนับถือ
นายวิเชียร บุษยบัณฑูร
นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร
 แก้ไข 1_Page_1(1).jpg)
 แก้ไข 1_Page_2.jpg)



.jpg)