ที่มา http://www.buildernews.in.th/page.php?a=10&n=268&cno=4041

บันไดหนีไฟ... เส้นทางสู่ชีวิตใหม่
“บันไดหนีไฟ” มักจะเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงเสมอเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ก็มักจะได้ยินข่าวว่าประตูทางเข้าบันไดหนีไฟไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เมื่อเข้าไปแล้วมีสิ่งของวางกีดขวาง มีแสงสว่างไม่เพียงพอ และเมื่อหนีไฟตามบันไดหนีไฟไปถึงพื้นราบแล้ว ปรากฏว่าประตูไม่สามารถเปิดออกไป จึงทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดขึ้นเป็นประจำ
|
 |
แต่หากมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กฎหมายได้กำหนไว้อย่างเคร่งครัดแล้ว เหตุการณ์ร้ายๆ คงไม่เกิดขึ้น แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็สามารถที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ และบันไดหนีไฟนี่เอง ที่จะเป็นเสมือนเส้นทางรอดสู่ชีวิตใหม่ของผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้
“บันไดหนีไฟ” ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีข้อกำหนดที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอาคาร ผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง ไปจนถึงผู้ใช้อาคาร ควรที่จะให้ความสนใจเอาใจใส่ดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งประกอบด้วย
ข้อ 27. กำหนดให้อาคารที่สูงตั้งแต่สี่ชั้นขึ้นไป และสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูงสามชั้นและมีดาดฟ้าเหนือขั้นที่สาม ที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร นอกจากมีบันไดของอาคารตามปกติแล้ว ต้องมีบันไดหนีไฟทำด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟนั้นได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
ข้อ 28. บันไดหนีไฟต้องมีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา เว้นแต่ตึกแถวและบ้านแถวที่สูงไม่เกินสี่ชั้น ให้มีบันไดหนีไฟที่มีความลาดชันเกิน 60 องศาได้ และต้องมีชานพักบันไดทุกชั้น
ข้อ 29. บันไดหนีไฟภายนอกอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และต้องมีผนังส่วนที่บันไดหนีไฟพาดผ่านเป็นผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟ
|
ข้อ 30. บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร มีผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟกั้นโดยรอบ เว้นแต่ส่วนที่เป็นช่องระบายอากาศและช่องประตูหนีไฟ และต้อมีอากาศถ่ายเทจากภายนอกอาคารได้โดยแต่ละชั้นต้องมีช่องระบายอากาศที่ เปิดสู่ภายนอกอาคารได้มีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1.4 ตารางเมตร กับต้องมีแสงสว่างให้เพียงพอทั้งกลางวันและกลางคืน
ข้อ 31. ประตูหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนไฟ มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร และต้องทำเป็นบานเปิดชนิดผลักออกสู่ภายนอกเท่านั้น กับต้องติดอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดได้เอง และต้องสามารถเปิดออกได้โดยสะดวกตลอดเวลา ประตูหรือทางออกสู่บันไดหนีไฟต้องไม่มีธรณีหรือขอบกั้น
ข้อ 32. พื้นหน้าบันไดหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันไดและอีกด้านหนึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่ต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด แต่สำหรับผู้ใช้อาคารแล้วการที่แน่ใจว่าบันไดหนีไฟที่ถูกจัดสร้างขึ้นนั้น คงต้องใช้วิธีสังเกตเป็นหลัก ซึ่งมีหลักง่ายๆ คือ บันไดหนีไฟทุกตัวจะต้องมีคุณสมบัติ คือ มีอัตราการทนไฟของประตูไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ในจุดนี้เราจะเห็นว่าอาคารเกือบทั้งหมดจะใช้ประตูเหล็ก ถัดมาเป็นเรื่องของอุปกรณ์ประตู จะต้องเป็นแบบผลักเท่านั้น ส่วนราวบันไดก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ก็ต้องมีป้ายบอกทางหนีไฟ มีป้ายบอกชั้น มีระบบอัดอากาศ กรณีเป็นบันไดหนีไฟที่อยู่ภายในตัวอาคาร
อีกปัญหาหนึ่งของบันไดหนีไฟในอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ เกิดจากการที่ผู้ออกแบบไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้งานของบันไดหนีไฟ ที่ต้องใช้งานได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนใหญ่จะออกแบบตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้เท่านั้น เป็นการออกแบบโดยการตีความตามกฎหมาย โดยไม่พิจารณาจุดประสงค์ของการใช้งานบันไดหนีไฟ
จึงพบว่า มีบันไดหนีไฟและบันไดที่ไม่มีการปิดล้อม บันไดไม่ได้ขนาด การเปิดประตูขวางการหนีไฟ ไม่มีการป้องกันควันเข้าสู่บันได ประตูหนีไฟไม่ได้มาตรฐาน อย่างกรณีเหตุเพลิงไหม้ในหลายๆ โรงแรม จะพบว่าบันไดหนีไฟ กลางเป็นปล่องไฟ และเป็นช่องทางให้ควันไฟและความร้อนขึ้นสู่ชั้นต่างๆ ของอาคารได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรุงเทพมหานคร และเทศบาลในจังหวัดต่างๆ พบว่า ยังมีอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ปลอดภัยอยู่นับพันหลัง และยังพบว่าเกือบทั้งหมด มีบันไดและบันไดหนีไฟที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่า และสร้างก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 33(2535) จะบังคับ จึงไม่ได้มาตรฐานและยากต่อการแก้ไขปรับปรุงให้ปลอดภัย
นอกจากนี้ การเพิ่มบันไดหนีไฟล้ำออกมานอกอาคาร ยังอาจจะไม่เข้าข่ายการดัดแปลงอาคารอีกด้วย โดยทางกรมโยธาธิการ ได้เห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 47 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2540 กำหนดให้อาคารจะต้องมีบันไดหนีไฟ และการติดตั้งบันไดหนีไฟไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร พร้อมทั้งแนะนำให้ทำการปิดล้อมบันได และช่องท่อแนวดิ่งต่างๆ
บันไดหนีไฟ คือองค์ประกอบที่สำคัญของทางหนีไฟ ซึ่งมีหลักการว่าจะต้องต่อเนื่อง เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่สามารถใช้หนีไฟออกสู่นอกอาคารได้อย่างปลอดภัย
หลักการนี้ นับว่าเป็นหลักการพื้นฐานและเข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ก็ยังมีการหลีกเลี่ยงและทำเสมือนหนึ่งไม่เข้าใจในหลักการนี้ ด้วยการกั้นห้องขวางบันได เอาประตูหนีไฟไปไว้ในห้อง มีทางหนีไฟผ่านห้องครัว ห้องเก็บของ ซึ่งเป็นอุปสรรคกับการหนีไฟ
บันไดหนีไฟที่ดีที่สุด คือบันไดมาตรฐานปกติที่มีชานพัก ทุกระดับความสูงไม่เกิน 3 เมตร สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาอากาศหนาวจัด บันไดโล่ง บันไดลอยนอกอาคาร หรือบันไดที่มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ เป็นบันไดหนีไฟที่เหมาะสมและไว้ใจได้มากที่สุด
|
ที่มา http://www.buildernews.in.th/page.php?a=10&n=268&cno=4041