กรณีสนามฟุตซอล เราน่าจะศึกษา และเรียนรู้จากปัญหาและข้อจำกัด เพื่อจะได้พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยกันต่อไป
อาคารฟุตซอล ถ้าดูตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 นิยามว่า
“อาคารขนาดใหญ่พิเศษ” หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภทโดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เนื่องจากมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 30,000 ตารางเมตร ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33
คลิ๊กลิงก์เพื่ออ่านรายละเอียดกฎกระทรวงเพิ่มเติม
http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-ฉบับที่-33-พศ-2535.html
และถ้าดูนิยาม ที่กำกับในกฎกระทรวง ฉบับที่ 47
“อาคารสาธารณะ” หมายความว่า อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนได้โดยทั่วไป เพื่อกิจกรรมทางราชการ การเมือง การศึกษา การศาสนา การสังคม การนันทนาการ หรือ การพาณิชยกรรม เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา หอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง สนามกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อุโมงค์ สะพาน อาคารจอดรถ สถานีรถ ท่าจอดเรือ โป๊ะจอดเรือ สุสาน ฌาปนสถาน ศาสนสถาน เป็นต้น
คลิ๊กลิงก์เพื่ออ่านรายละเอียดกฎกระทรวงเพิ่มเติม
http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-ฉบับที่--47-พศ-2540.html
สนามฟุตซอล ของเรา เป็นอาคารสาธารณะ เพื่อการชุมนุมคน
ดังนั้น สนามฟุตซอล เป็นทั้งอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารสาธารณะ และอาคารชุมนุมคน
ตาม มาตรา 32 ทวิ ของ พรบ. ควบคุมอาคาร พศ 2522 กำหนดว่า
“มาตรา 32 ทวิ เจ้าของอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
(2) อาคารชุมนุมคน
(3) อาคารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคาร อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า และการจัดแสงสว่าง ระบบการเตือน การป้องกันและการระงับอัคคีภัย การป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย ระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเครื่องกล หรือระบบอื่น ๆ ของอาคารที่จำเป็นต่อการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน แล้วรายงานผลการตรวจสอบต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาผลการตรวจสอบสภาพอาคารตามวรรคหนึ่งโดยมิชักช้า เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบสภาพอาคารหรือดำเนินการตามมาตรา 46 หรือมาตรา 46 ทวิ แล้วแต่กรณี ต่อไป”
(“มาตรา 32 ทวิ” บัญญัติเพิ่มโดย พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 มาตรา 17)
คลิ๊กลิงก์เพื่ออ่านรายละเอียดกฎกระทรวงเพิ่มเติม
http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/พระราชบัญญัติ-ควบคุมอาคาร-พศ-2522.html
ดังนั้น สนามกีฬาฟุตซอล ซึ่งเป็นอาคารสาธารณะเพื่อการชุมนุมคน และเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ก็ควรจะจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารและจัดให้มีการตรวจสอบอาคาร
กฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอน การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๘ บทเฉพาะกาล กำหนดว่า “ข้อ ๒๓ ให้เจ้าของอาคารตามมาตรา ๓๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ และเป็นอาคารที่การก่อสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จหรือได้รับใบรับรองตามมาตรา ๓๒ มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี จัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประเภทการตรวจสอบใหญ่ตามข้อ ๑๓ (๑) เป็นครั้งแรกให้แล้วเสร็จและเสนอรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ”
คลิ๊กลิงก์เพื่ออ่านรายละเอียดกฎกระทรวงเพิ่มเติม
http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ-หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผ.html
หมายความว่า ในวันที่ครบการใช้งานมาแล้วหนึ่งปี ต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบ ก็หมายความว่า เจ้าของอาคารจะจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบอาคารได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มใช้งานก็ได้ และจะทำการตรวจสอบมากกว่าหนึ่งครั้งหรือหลายๆ ครั้งก็ได้ เพื่อทำการปรับปรุงเพิ่มเติมระบบความปลอดภัยในการใช้สอยอาคาร โดยที่การตรวจสอบครั้งแรกต้องเป็นการตรวจสอบใหญ่
ทีนี้ใครควรเป็นผู้ทำการตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย และใครสามารถลงนามรับรองในรายงานผลการตรวจสอบอาคารนั้นว่า “มีสภาพมีการใช้ปลอดภัย” เพื่อกรุงเทพมหานคร ออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร ใบ ร.๑ ต่อไป
แต่ทว่ามีข้อยกเว้น
กฎกระทรวง ว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนด เงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ 4 กำหนดว่า
“ข้อ ๔ ให้อาคารตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง ที่เป็นอาคารประเภทหรือชนิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๒ ทวิ (๑) (๒) และ (๓) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี ตามมาตรา ๓๒ ทวิ
ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามวรรคหนึ่งจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการตรวจสอบอาคาร การติดตั้ง และตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๕) โดยผู้ที่ทำการตรวจสอบต้องมีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๔)
ถ้าหน่วยงานที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามวรรคสองไม่สามารถจัดหาผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบเองได้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบหรือจัดหาผู้ดำเนินการตรวจสอบให้”
ข้อ 2 วรรคหนึ่ง กล่าวว่า
“ข้อ ๒ ให้อาคารดังต่อไปนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔
(๑) อาคารของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๒) อาคารของราชการส่วนท้องถิ่น ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๓) อาคารขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ที่ใช้ในกิจการขององค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๔) โบราณสถาน วัดวาอาราม หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนา ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างไว้แล้วโดยเฉพาะ
(๕) อาคารที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ หรืออาคารที่ทำการของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
(๖) อาคารที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศ”
คลิ๊กลิงก์เพื่ออ่านรายละเอียดกฎกระทรวงเพิ่มเติม
http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น-ผ่อนผัน-หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร-พศ-๒๕๕.html
ดังนั้น สนามฟุตซอล เป็นอาคารของส่วนราชการท้องถิ่น ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร
แต่ก็ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคาร ตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ 4 วรรคสอง ตามวิธีการของที่ผู้ตรวจสอบอาคารทั่วๆ ไปที่เขาปฏิบัติกันเหมือนกันทุกประการ
แต่ว่า ถ้า เจ้าของอาคาร ในที่นี้คือ กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถจัดหาผู้ดำเนินการตรวจสอบได้ ก็สามารถให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทำการตรวจสอบให้ หรือให้จัดหาผู้ดำเนินการตรวจสอบให้
ดังนั้น ในกรณีนี้ กรุงเทพมหานคร จึงสามารถจัดหาผู้ดำเนินการตรวจสอบ ได้หลายทางคือ
1. ผู้ดำเนินการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่ของตนเองที่ผ่านการอบรมการตรวจสอบอาคารมา โดยต้องมีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามบางประการ
2. จ้างผู้ตรวจสอบอาคาร ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง มาเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบให้
3. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดเจ้าหน้าที่ที่มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามบางประการมาเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบให้
4. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้จัดหาผู้ดำเนินการตรวจสอบให้กับ กรุงเทพมหานคร
จึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่สามารถรับรองรายงานผลการตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย ว่าอาคารดังกล่าว “มีสภาพมีการใช้ปลอดภัย” ได้ มี 4 กลุ่มข้างต้น แต่ไม่ต้องยื่นรายงานผลการตรวจสอบอาคารกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อขอรับใบรับรอง ร๑ ก็ได้

