กฎกระทรวง
สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
พ.ศ. 2564
-----------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 7 (1) (2) (3) (5) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 และมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้
“ก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ก๊าซธรรมชาติอัดและก๊าซธรรมชาติเหลว
“ก๊าซธรรมชาติอัด” หมายความว่า ก๊าซธรรมชาติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งอยู่ในสถานะไอก๊าซที่ถูกอัดเก็บไว้ภายใต้ความดันสูง
“ก๊าซธรรมชาติเหลว” หมายความว่า ก๊าซธรรมชาติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งอยู่ในสถานะของเหลว
“สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า สถานีบริการก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสถานที่เก็บและเป็นจุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้บริการแก่ยานพาหนะหรือจ่ายให้กับถังขนส่งก๊าซธรรมชาติอัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการถังขนส่งก๊าซธรรมชาติ
“เขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า แนวเขตของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงสิ่งก่อสร้าง พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระบบ ท่อก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักร และอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในแผนผังบริเวณของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
“อาคารบริการ” หมายความว่า อาคารภายในเขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นอาคารเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ อาคารจอดรถขนส่งก๊าซ อาคารคลุมตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ สำนักงาน อาคารที่ใช้เป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์สำหรับยานพาหนะ อาคารคลุมที่ล้างอัดฉีด อาคารคลุมที่จอดรถ หรืออาคารที่ใช้เพื่อบริการหรือจำหน่ายสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดเปลวไฟหรือประกายไฟ และให้หมายความรวมถึงห้องน้ำและห้องส้วมด้วย
“พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว” หมายความว่า พื้นที่ภายในเขื่อน กำแพง หรือบ่อกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ที่ล้อมรอบถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวและเครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ
“กำแพงกันไฟ” หมายความว่า กำแพงทึบที่สร้างด้วยวัสดุถาวรและทนไฟ มีความหนาไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร และไม่มีช่องให้ไฟผ่านได้
“ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติในเขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง
“ถังขนส่งก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ถังขนส่งก๊าซธรรมชาติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียม เกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง
“สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
“สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
“โรงมหรสพ” หมายความว่า โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
“ศาสนสถาน” หมายความว่า วัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มัสยิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม วัดบาทหลวงตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจในนิกายหรือศาสนาอื่น
“โบราณสถาน” หมายความว่า โบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
“สนามกีฬา” หมายความว่า สถานที่ที่ใช้ในการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล รักบี้ บาสเกตบอล มวย หรือกรีฑา และมีอัฒจันทร์ที่ก่อสร้างอย่างถาวรสำหรับผู้เข้าชม
“ทางสัญจร” หมายความว่า ทางหลวง ถนนสาธารณะ ทางสาธารณะ หรือถนนส่วนบุคคล
“ทางแยก” หมายความว่า ทางสัญจรที่มีความกว้างของถนนตั้งแต่ 12.00 เมตร ขึ้นไป และมีความยาวจากจุดตัดหรือจุดบรรจบของถนนตั้งแต่ 200.00 เมตร ขึ้นไป
“ความกว้างของถนน” หมายความว่า ระยะที่วัดจากเขตทางด้านหนึ่งไปยังเขตทางด้านตรงข้าม
“มาตรฐาน ASME” หมายความว่า มาตรฐานที่ประกาศโดยสมาคมวิศวกรเครื่องกล แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Society of Mechanical Engineers)
“มาตรฐาน EN” หมายความว่า มาตรฐานของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (European Standard)
“มาตรฐาน ISO” หมายความว่า มาตรฐานที่ประกาศโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization)
“มาตรฐาน NFPA” หมายความว่า มาตรฐานที่ประกาศโดยสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association)
หมวด 1
บททั่วไป
-------------------
ข้อ 3 การออกแบบสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ และระบบไฟฟ้า ต้องกระทำโดยวิศวกรออกแบบซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร
การทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ และการตรวจสอบระบบไฟฟ้า ต้องกระทำโดยผู้ทดสอบและตรวจสอบตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบที่ออกตามมาตรา 7
การรับ การจ่าย และการถ่ายเทก๊าซธรรมชาติ ต้องกระทำโดยผู้ปฏิบัติงานตามกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
หมวด 2
ลักษณะของแผนผังและแบบก่อสร้าง
-------------------
ข้อ 4 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องมีแผนผังโดยสังเขปแสดงตำแหน่งที่ตั้งของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ พร้อมสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบเขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ภายในระยะไม่น้อยกว่า 200.00 เมตร
ในกรณีที่แผนผังโดยสังเขปไม่สามารถแสดงถึงที่ตั้งของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติได้ ให้จัดทำแผนผังในระยะที่ทำให้สามารถบ่งชี้ถึงที่ตั้งของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติได้
ข้อ 5 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องมีแผนผังบริเวณที่แสดงเขตที่ดิน เขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ อาคารบริการ พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว กำแพงกันไฟ ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ แนวท่อก๊าซธรรมชาติ ท่อหรือรางระบายน้ำ ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย บ่อกักไขมัน เสาไฟฟ้า และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ รวมทั้งทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะ
แผนผังบริเวณให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า 1 ใน 250
ข้อ 6 แบบก่อสร้างอาคารบริการ ต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) แปลนพื้น แปลนฐานราก แปลนโครงสร้าง และแปลนหลังคา
(2) รูปด้านอย่างน้อยสองด้าน รูปตัดตามขวาง และรูปตัดตามยาว
แบบก่อสร้างตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า 1 ใน 100
ข้อ 7 แบบก่อสร้างพื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวและกำแพงกันไฟ ต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) แปลนพื้น แปลนฐานราก และแปลนโครงสร้าง
(2) รูปด้านอย่างน้อยสองด้าน รูปตัดตามขวาง และรูปตัดตามยาว แบบก่อสร้างตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า 1 ใน 100
ข้อ 8 แบบแสดงคุณลักษณะของถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ และตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ ต้องมีเอกสารรับรองจากผู้ผลิต พร้อมรายละเอียดการประกอบและการติดตั้ง
ข้อ 9 แบบระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) การติดตั้ง
(2) การป้องกันการกัดกร่อน
(3) อุปกรณ์ความปลอดภัย
ข้อ 10 แบบก่อสร้างท่อหรือรางระบายน้ำ และบ่อกักไขมัน ต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) แปลนส่วนล่าง
(2) รูปตัดตามขวาง และรูปตัดตามยาว
(3) ฝาตะแกรงปิดรางระบายน้ำ บ่อพัก และบ่อกักไขมัน
แบบก่อสร้างตาม (1) ให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า 1 ใน 50
ข้อ 11 แบบระบบไฟฟ้า ต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) แผนผังแสดงการเดินสายไฟฟ้าและการต่อลงดินในลักษณะแผนภาพเส้นเดียว (single line diagram) และการปิดผนึก
(2) แผนผังแสดงการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบริเวณสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
(3) แผนผังแสดงการติดตั้งระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า
ข้อ 12 ในกรณีที่มีการติดตั้งระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการรับ การเก็บ หรือการจ่ายก๊าซในเขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ให้แสดงแบบและรายละเอียดของระบบดังกล่าวด้วย
ข้อ 13 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องแสดงรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรงของอาคารบริการ พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว กำแพงกันไฟ ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ท่อหรือรางระบายน้ำ บ่อกักไขมัน หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ แล้วแต่กรณี
ข้อ 14 แบบก่อสร้างและรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรงของอาคารบริการ พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว กำแพงกันไฟ ท่อหรือรางระบายน้ำ บ่อกักไขมัน หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ตามข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 10 และข้อ 13 ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้อนุญาตแล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องแสดงรายละเอียดตามที่ระบุไว้แล้วแต่กรณี แต่ให้ใช้แบบก่อสร้างและรายการคำนวณของอาคารหรือสิ่งก่อสร้างดังกล่าวมาแสดงแทน
ข้อ 15 การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ให้มีระยะความคลาดเคลื่อนไปจากแผนผังบริเวณที่ได้รับอนุญาตได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบ ทั้งนี้ ต้องไม่น้อยกว่าระยะปลอดภัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ และสัดส่วนของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ให้มีระยะความคลาดเคลื่อนจากแบบก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตได้ไม่เกินร้อยละห้า
หมวด 3
ที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัย
-------------------
ข้อ 16 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องมีระยะห่างระหว่างเขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติกับเขตสถานทูต สถานกงสุล สถานศึกษา สถานพยาบาล โรงมหรสพ ศาสนสถาน โบราณสถาน หรือสนามกีฬา ไม่น้อยกว่า 60.00 เมตร เว้นแต่สถานที่เหล่านั้นได้รับอนุญาต อนุมัติ หรือมีการขึ้นทะเบียน หรือได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี ภายหลังวันที่ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานี บริการก๊าซธรรมชาติครบถ้วนและถูกต้องแล้ว
ข้อ 17 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องมีระยะห่างระหว่างเขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติกับเขตพระราชฐานไม่น้อยกว่า 500.00 เมตร ยกเว้นสถานีบริการก๊าซธรรมชาติที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสำนักพระราชวัง
ข้อ 18 ทางเข้าและทางออกของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องมีลักษณะและระยะปลอดภัย ดังต่อไปนี้
(1) ทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะ ต้องติดกับทางหลวงหรือถนนสาธารณะที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร หรือติดถนนส่วนบุคคลที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร โดยถนนส่วนบุคคลดังกล่าวต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะหรือถนนสาธารณะ หรือทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 1 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(2) กรณีที่ทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะแยกต่างหากจากกัน ซึ่งแต่ละทางต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร และห่างกันไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร และขอบทางเลี้ยวเข้าด้านซ้ายและขอบทางเลี้ยวออกด้านซ้ายต้องมีรัศมีความโค้งไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 2 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(3) กรณีที่ทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะเป็นทางเดียวกัน ต้องมีความกว้างของทางทั้งทางเข้าและทางออกรวมกันไม่น้อยกว่า 7.00 เมตร และขอบทางเลี้ยวเข้าด้านซ้ายและขอบทางเลี้ยวออกด้านซ้ายต้องมีรัศมีความโค้งไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 3 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
ในกรณีที่เป็นสถานีบริการก๊าซธรรมชาติเพื่อการใช้เอง ทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะตาม (1) ต้องติดทางหลวงหรือถนนสาธารณะที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร หรือติดถนนส่วนบุคคลที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร โดยถนนส่วนบุคคลดังกล่าว ต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะ หรือถนนสาธารณะ หรือทางที่มีสภาพเป็นสาธารณะที่มีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 1 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
ข้อ 19 จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องมีลักษณะและระยะปลอดภัย ดังต่อไปนี้
(1) สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลเมือง เขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา และเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ
(ก) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะต้องไม่อยู่ตรงโค้งตั้งของทางสัญจรที่มีความลาดชันด้านใดด้านหนึ่งเกิน 1 ต่อ 25 และต้องไม่อยู่บนทางสัญจรที่มีความลาดชันเกิน 1 ต่อ 25 ในกรณีที่ทางสัญจรมีความลาดชันด้านใดด้านหนึ่งเกิน 1 ต่อ 25 จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะต้องห่างจากจุดเริ่มต้นโค้งตั้งของทางสัญจรไม่น้อยกว่า 80.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 4 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(ข) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะที่เชื่อมกับทางสัญจรต้องห่างจากจุดเริ่มโค้งของทางแยกซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกันไม่น้อยกว่า 30.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 5 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(ค) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะที่ตั้งอยู่ติดทางสัญจรที่ตัดกับทางรถไฟต้องห่างจากรางรถไฟที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า 50.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 6 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(ง) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะต้องไม่ตั้งอยู่ตรงโค้งของทางสัญจรที่มีรัศมีความโค้งน้อยกว่า 500.00 เมตร และต้องห่างจากจุดเริ่มโค้งของทางสัญจรไม่น้อยกว่า 50.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 7 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(2) สถานีบริการก๊าซธรรมชาติที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่ตาม (1)
(ก) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะต้องไม่อยู่ตรงโค้งตั้งของทางสัญจรที่มีความลาดชันด้านใดด้านหนึ่งเกิน 1 ต่อ 25 และต้องไม่อยู่บนทางสัญจรที่มีความลาดชันเกิน 1 ต่อ 25 ในกรณีที่ทางสัญจรมีความลาดชันด้านใดด้านหนึ่งเกิน 1 ต่อ 25 จุดเริ่มต้นของทางเข้า และทางออกสำหรับยานพาหนะต้องห่างจากจุดเริ่มต้นโค้งตั้งของทางสัญจรไม่น้อยกว่า 150.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 8 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(ข) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะที่เชื่อมกับทางสัญจรต้องห่างจากจุดเริ่มโค้งของทางแยกซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกันไม่น้อยกว่า 50.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏ ตามภาพประกอบที่ 9 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(ค) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะที่ตั้งอยู่ติดทางสัญจรที่ตัดกับทางรถไฟต้องห่างจากรางรถไฟที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า 50.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 6 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(ง) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะต้องไม่ตั้งอยู่ตรงโค้งของทางสัญจรที่มีรัศมีความโค้งน้อยกว่า 1,000.00 เมตร และต้องห่างจากจุดเริ่มโค้งของทางสัญจรไม่น้อยกว่า 50.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 10 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
(จ) จุดเริ่มต้นของทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะที่เชื่อมกับทางสัญจรที่เป็นทางคู่ต้องห่างจากจุดเริ่มต้นของช่องเปิดของเกาะกลาง ทางระบายน้ำ หรือกำแพงของทางสัญจรดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 50.00 เมตร ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามภาพประกอบที่ 11 ท้ายกฎกระทรวงนี้
.jpg)
ข้อ 20 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติที่มีทางเข้าและทางออกสำหรับยานพาหนะที่ผ่านการพิจารณาด้านความปลอดภัยและได้รับอนุญาตให้เชื่อมทาง และก่อสร้างหรือมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยถูกต้องตามใบอนุญาตให้เชื่อมทางตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงแล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ ตามข้อ 19
ข้อ 21 ระยะปลอดภัยของพื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ และตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 4
พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ
เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ
ตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ
-------------------
ข้อ 22 พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวต้องมีการออกแบบ การสร้าง และมีปริมาณความจุของการกักเก็บ เป็นไปตามมาตรฐาน NFPA52 หรือมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดใน ราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 23 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ มี 2 ชนิด ดังต่อไปนี้
(1) ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัด
(2) ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว
ข้อ 24 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัดต้องมีลักษณะเป็นภาชนะหรือถังที่ใช้บรรจุก๊าซธรรมชาติอัดได้
การออกแบบ การสร้าง และการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัด ให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐาน ASME มาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานอื่น ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 25 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวต้องมีลักษณะเป็นภาชนะหรือถังที่ใช้บรรจุก๊าซธรรมชาติเหลวได้
การออกแบบ การสร้าง และการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐาน ASME มาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 26 เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบกับระบบท่อก๊าซธรรมชาติ และอุปกรณ์ควบคุมความดันก๊าซเกินพิกัดแบบระบายไอ ต้องได้รับการออกแบบ การสร้าง การทดสอบและตรวจสอบจากโรงงานผู้ผลิต ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐาน ASME มาตรฐาน EN มาตรฐาน NFPA52 หรือมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่อุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งมิได้ผลิตสำเร็จทั้งหมดจากโรงงานผู้ผลิต การสร้าง และการประกอบอุปกรณ์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐาน ASME มาตรฐาน EN มาตรฐาน NFPA52 หรือมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 27 การติดตั้งและเชื่อมต่อระบบของถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัดตามข้อ 24 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวตามข้อ 25 และอุปกรณ์ตามข้อ 26 ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ASME มาตรฐาน ISO หรือมาตรฐาน NFPA52 หรือมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 28 การวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ASME หรือมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 29 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัดตามข้อ 24 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวตามข้อ 25 อุปกรณ์ตามข้อ 26 และระบบท่อก๊าซธรรมชาติตามข้อ 28 จะต้องได้รับการทดสอบและตรวจสอบก่อนการใช้งาน การทดสอบตามวาระ และการทดสอบกรณีที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 30 ถังขนส่งก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องเป็นถังขนส่งก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการถังขนส่งก๊าซธรรมชาติ และในขณะให้บริการจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดในแผนผังบริเวณของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติและไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
ข้อ 31 ห้ามนำถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติที่หมดอายุการใช้งานตามมาตรฐานการออกแบบมาใช้งานในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
ข้อ 32 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ และตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ จะต้องติดตั้งบนโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง และอุปกรณ์ที่มาประกอบกับโครงสร้างจะต้องสามารถรับแรงต่าง ๆ ตามหลักวิศวกรรม รวมถึงแรงจาก แผ่นดินไหวตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารด้วย
หมวด 5
การป้องกันและระงับอัคคีภัย
-------------------
ข้อ 33 การกำหนดบริเวณอันตรายของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
การออกแบบ การติดตั้ง และการทดสอบและตรวจสอบระบบไฟฟ้าของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 34 ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติมีหน้าที่ควบคุมดูแลไม่ให้มีการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดเปลวไฟหรือประกายไฟในเขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
ข้อ 35 ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องจัดให้มีเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 6.8 กิโลกรัม ที่มีความสามารถในการดับเพลิงไม่น้อยกว่า 20-B:C ตามมาตรฐานระบบป้องกันอัคคีภัยของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และต้องจัดให้อยู่ในที่ที่สามารถนำออกมาใช้ได้ง่าย ในบริเวณที่กำหนดและมีจำนวนเครื่อง ดังต่อไปนี้
(1) ห้องถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติและห้องเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอยู่ที่บริเวณประตูของแต่ละห้อง ประตูละสองเครื่อง ในกรณีที่ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติและเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติอยู่ในห้องเดียวกัน ต้องมีเครื่องดับเพลิงอยู่ที่บริเวณประตูอย่างน้อย ประตูละสองเครื่อง
(2) บริเวณที่ตั้งถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัด ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยหนึ่งเครื่องต่อหนึ่งกลุ่มถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัดที่มีความจุไม่เกิน 4,000 ลิตร
(3) บริเวณที่ตั้งเครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยหนึ่งเครื่องต่อเครื่องสูบก๊าซธรรมชาติหนึ่งเครื่อง
(4) บริเวณที่ตั้งเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยสองเครื่องต่อเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติหนึ่งเครื่อง
(5) บริเวณที่ตั้งตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ
(ก) กรณีตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติอัด ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยหนึ่งเครื่องต่อตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติอัดไม่เกินสองตู้จ่าย
(ข) กรณีตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยหนึ่งเครื่องต่อตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวหนึ่งตู้จ่าย
(6) บริเวณผนังภายนอกของพื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยด้านละหนึ่งเครื่อง
(7) บริเวณสถานีควบคุมความดันและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติ ต้องมีเครื่องดับเพลิงอย่างน้อยสองเครื่อง
ในกรณีที่สถานีบริการก๊าซธรรมชาติมีถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ให้บริเวณที่ตั้งถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ต้องมีเครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งที่มีขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 9.0 กิโลกรัม อย่างน้อยหนึ่งเครื่องต่อถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวหนึ่งถัง
เครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี และผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องจัดให้มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาทุกหกเดือน โดยมีหลักฐานการตรวจสอบติดหรือแขวนไว้ที่เครื่องดับเพลิง
ข้อ 36 ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องจัดให้มีป้ายที่มีข้อความหรือเครื่องหมายตามที่กำหนดในบริเวณ ดังต่อไปนี้
(1) บริเวณถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติและบริเวณเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ต้องจัดให้มีป้ายที่มีข้อความหรือเครื่องหมาย “ห้ามสูบบุหรี่” และ “ห้ามก่อประกายไฟ” และในกรณีที่เครื่องสูบ อัดก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นชนิดเดินเครื่องอัตโนมัติ จะต้องจัดให้มีป้ายที่มีข้อความว่า “เครื่องสูบอัด ก๊าซธรรมชาตินี้ทำงานอัตโนมัติทุกเวลา” ที่บริเวณเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาตินั้นด้วย
(2) บริเวณตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติ ต้องจัดให้มีป้ายที่มีข้อความ
“อันตราย
1. ดับเครื่องยนต์
2. ห้ามสูบบุหรี่
3. ห้ามทำให้เกิดเปลวไฟหรือประกายไฟ”
(3) บริเวณพื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ต้องจัดให้มีป้ายที่มีข้อความหรือเครื่องหมาย “ห้ามสูบบุหรี่” “ห้ามก่อประกายไฟ” “ของเหลวเย็นจัด” และ “ก๊าซไวไฟ”
ลักษณะของป้ายตามวรรคหนึ่ง ให้มีสี รูปแบบ ขนาดตัวอักษร และเครื่องหมาย เป็นไป ตามประกาศว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สีและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย
ข้อ 37 ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องติดตั้งระบบปิดฉุกเฉินเพื่อปิดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติ ของเหลวที่ติดไฟ สารทำความเย็นที่ติดไฟ หรือก๊าซที่ติดไฟ
การติดตั้งระบบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 38 ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว โดยติดตั้งในบริเวณที่กำหนดและมีจำนวนเครื่อง ดังต่อไปนี้
(1) ห้องถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติและห้องเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว อย่างน้อยห้องละหนึ่งเครื่อง ในกรณีที่ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติและเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติอยู่ในห้องเดียวกัน ต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว อย่างน้อยหนึ่งเครื่อง
(2) บริเวณที่ตั้งเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว อย่างน้อยบริเวณละหนึ่งเครื่อง
(3) บริเวณพื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว อย่างน้อยบริเวณละสองเครื่อง
(4) บริเวณสถานีควบคุมความดันและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติ ต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่ว อย่างน้อยบริเวณละหนึ่งเครื่อง
ข้อ 39 ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติต้องจัดให้มีเครื่องตรวจจับการเกิดไฟ โดยติดตั้งบริเวณพื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว อย่างน้อยสองเครื่อง
ข้อ 40 เครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่วตามข้อ 38 และเครื่องตรวจจับการเกิดไฟตามข้อ 39 ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐาน NFPA72 หรือมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้และเปิดใช้งานตลอดเวลา โดยจะต้องทำการทดสอบและตรวจสอบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ข้อ 41 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ และตู้จ่ายก๊าซธรรมชาติต้องจัดให้อยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทได้โดยสะดวก
หมวด 6
การเลิกประกอบกิจการ
-------------------
ข้อ 42 ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ต้องส่งผลการทดสอบและตรวจสอบว่าไม่มีก๊าซธรรมชาติค้างอยู่ในถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติและระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
การแจ้งยกเลิกการประกอบกิจการ และการทดสอบและตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
บทเฉพาะกาล
-------------------
ข้อ 43 ในระหว่างที่ยังไม่มีผู้ทดสอบและตรวจสอบตามข้อ 3 วรรคสอง การทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติและระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ให้กระทำโดยวิศวกรทดสอบและตรวจสอบตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติและคุณวุฒิของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบ ถังเก็บและจ่ายก๊าซ ถังขนส่งก๊าซ ระบบท่อก๊าซ และอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติ ลงวันที่ 13 มกราคม 2547 และการตรวจสอบระบบไฟฟ้า ให้กระทำโดยผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าตามประกาศกรมธุรกิจ พลังงาน เรื่อง คุณสมบัติของผู้ตรวจสอบและออกหนังสือรับรองระบบไฟฟ้าภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550
ข้อ 44 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติอยู่ในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่ ข้อ 3 ข้อ 29 ข้อ 30 ข้อ 31 ข้อ 33 วรรคสอง ข้อ 34 ข้อ 35 ข้อ 36 ข้อ 37 ข้อ 38 ข้อ 39 ข้อ 40 ข้อ 41 และข้อ 42
ให้ไว้ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เล่ม 138 ตอนที่ 77 ก ราชกิจจานุเบกษา 23 พฤศจิกายน 2564
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 7 (1) (2) (3) (5) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ และลักษณะของสถานีบริการ ก๊าซธรรมชาติ ลักษณะของถังหรือภาชนะที่ใช้ในการบรรจุก๊าซธรรมชาติและการบำรุงรักษาถังหรือภาชนะ ดังกล่าว วิธีการปฏิบัติงานและการจัดให้มีและบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันหรือระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหาย หรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม จากการประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้