พระราชบัญญัติ
ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๕๗
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๗”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “การพัฒนาฝีมือแรงงาน” ในมาตรา ๕ แห่ง
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““การพัฒนาฝีมือแรงงาน” หมายความว่า กระบวนการที่ทำให้ผู้รับการฝึกและประชากรวัยทำงานมีความสามารถในการพัฒนาปรับปรุงงาน มีฝีมือ ความรู้ความสามารถ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานเพื่อพัฒนาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ อันได้แก่ การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน การรับรองความรู้ความสามารถ และการอื่นที่เกี่ยวข้อง”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “สมุดประจำตัว” “การประเมิน” “ผู้ประเมิน” “การรับรองความรู้ความสามารถ” “หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ” และ “องค์กรอาชีพ” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน” และ “ผู้ประกอบกิจการ” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
““สมุดประจำตัว” หมายความว่า เอกสารหรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการบันทึกประวัติของบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา การฝึกอบรม การสัมมนา การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การประกอบอาชีพการทำงานที่ผ่านมา หรือกรณีอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพหรือการจ้างงาน
“การประเมิน” หมายความว่า การพิจารณาและวัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ความสามารถ คุณลักษณะส่วนบุคคล และประสบการณ์หรือความสำเร็จในการประกอบอาชีพในระดับต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
“ผู้ประเมิน” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้ทำหน้าที่ประเมินผู้ขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
“การรับรองความรู้ความสามารถ” หมายความว่า การรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพของบุคคลที่ผ่านการประเมินในแต่ละระดับตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
“หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ” หมายความว่า หนังสือที่ออกให้แก่บุคคลที่ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ
“องค์กรอาชีพ” หมายความว่า กลุ่มบุคคลหรือสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพซึ่งคณะกรรมการได้รับรองให้มีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้หมายความรวมถึงองค์กรวิชาชีพตามกฎหมายอื่นด้วย”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น ตลอดจนออกระเบียบและประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศ
(๑) กำหนดสาขาอาชีพที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
(๒) กำหนดสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เว้นแต่สาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานใดที่มีองค์กรตามกฎหมายควบคุมแล้ว ให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น”
มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๒/๑ การรับรองความรู้ความสามารถ มาตรา ๒๖/๑ ถึงมาตรา ๒๖/๑๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
“หมวด ๒/๑
การรับรองความรู้ความสามารถ
-----------------------
มาตรา ๒๖/๑ บุคคลที่ประสงค์จะมีสมุดประจำตัวหรือจะให้บันทึกข้อมูลเพิ่มเติมในสมุดประจำตัวให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน
แบบสมุดประจำตัว การออกสมุดประจำตัว และการบันทึกข้อมูล ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๖/๒ เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอมีสมุดประจำตัวหรือคำขอให้บันทึกข้อมูลเพิ่มเติมในสมุดประจำตัวตามมาตรา ๒๖/๑ แล้ว ให้ตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ยื่นคำขอได้ยื่นไว้หรือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานของรัฐ สถานประกอบกิจการ หรือบุคคลที่ทราบข้อมูลดังกล่าว
ในกรณีที่นายทะเบียนเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้อง ให้บันทึกข้อมูลนั้นไว้ในสมุดประจำตัวของผู้ยื่นคำขอและมอบสมุดประจำตัวนั้นให้แก่ผู้ยื่นคำขอ
ในกรณีที่ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในภายหลังหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้นายทะเบียนแก้ไขข้อมูลในสมุดประจำตัวให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้
มาตรา ๒๖/๓ ผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๗ (๒) ต้องได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๑๐
มาตรา ๒๖/๔ ให้มีศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ดังต่อไปนี้
(๑) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง
(๒) องค์กรอาชีพหรือหน่วยงานของรัฐตามประเภทที่คณะกรรมการประกาศกำหนดที่ได้รับการรับรองจากนายทะเบียนให้เป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ
มาตรา ๒๖/๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานในฐานะเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริม สนับสนุน และจัดให้มีการประเมินและออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
(๒) สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย รวบรวม และเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับสาขาอาชีพตำแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ที่มีอยู่ในสถานประกอบกิจการ
(๓) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ สถานประกอบกิจการของเอกชน หรือองค์กรอาชีพเพื่อขอรับการสนับสนุนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) ดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๒๖/๖ ให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีการประเมินและออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
มาตรา ๒๖/๗ องค์กรอาชีพหรือหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน
การยื่นคำขอ การออกหนังสือรับรอง การขอต่ออายุหนังสือรับรอง และการออกใบแทนหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๖/๘ หนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) ให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่นายทะเบียนออกหนังสือรับรอง
มาตรา ๒๖/๙ ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถต้องแสดงหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถไว้ในสถานที่ทำการโดยเปิดเผยและเห็นได้ง่าย
มาตรา ๒๖/๑๐ บุคคลที่ประสงค์จะขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้ยื่นคำขอต่อศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางหรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒)
เมื่อศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางหรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) ได้รับคำขอแล้ว ให้ดำเนินการประเมินเพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
การยื่นคำขอ การประเมิน การออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ อายุหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ การออกใบแทนหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๖/๑๑ บุคคลที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมิน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน เมื่อนายทะเบียนรับขึ้นทะเบียนแล้ว ให้ออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนพร้อมทั้งบัตรประจำตัวผู้ประเมินแก่บุคคลนั้นได้
คุณสมบัติของผู้ประเมิน การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน การออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน อายุหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน และการออกใบแทนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
แบบบัตรประจำตัวผู้ประเมิน ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในกรณีที่บัตรประจำตัวผู้ประเมินชำรุดหรือสูญหาย ให้ผู้ประเมินยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวผู้ประเมินต่อนายทะเบียน
มาตรา ๒๖/๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ประเมินในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง ให้ผู้ประเมินได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่ผู้ประเมินเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง ให้ได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา ๒๖/๑๓ ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางและศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) ที่เป็นหน่วยงานของรัฐอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) ที่เป็นองค์กรอาชีพอาจเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถได้ไม่เกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๒๖/๑๔ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) เก็บรักษาเอกสารและหลักฐานของผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ และผลการพิจารณาของผู้ประเมินไว้ไม่น้อยกว่าสองปี
มาตรา ๒๖/๑๕ ให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) รายงานผลการดำเนินงานให้นายทะเบียนทราบ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓/๑) ของวรรคสองของมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
“(๓/๑) ค่าธรรมเนียมหรือค่าทดสอบที่จัดเก็บได้ตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓/๑) และ (๓/๒) ของวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
“(๓/๑) ช่วยเหลือหรืออุดหนุนองค์กรอาชีพที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน การจำแนกและกำหนดระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพ และการกำหนดช่วงอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(๓/๒) ช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางในการรับรองความรู้ความสามารถ ในกรณีที่ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรับรองความรู้ความสามารถ และช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) ในการรับรองความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ซึ่งจำเป็นต้องให้การส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อให้มีผู้ประกอบอาชีพเพียงพอต่อความต้องการด้านแรงงาน หรือตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานพ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๙ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งประกอบกิจการในประเภท ขนาด และท้องที่ใด ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๐
ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการรายใดตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างของตนตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๑ หรือมีลูกจ้างเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๒ หรือมีลูกจ้างผู้ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๒/๑ ให้ผู้ประกอบกิจการรายนั้นไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในปีนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๑ ผู้ประกอบกิจการรายใดไม่ส่งเงินสมทบภายในเวลาที่กำหนดหรือส่งเงินไม่ครบตามอัตราที่กำหนดในมาตรา ๒๙ ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่ได้นำส่งหรือของเงินสมทบที่ยังขาดอยู่ นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ เศษของเดือนถ้าถึงสิบห้าวันให้นับเป็นหนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง
ในกรณีที่อธิบดีได้ประเมินเงินสมทบหรือเงินเพิ่ม และได้มีคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่ส่งเงินสมทบหรือเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้มีหน้าที่ไม่ยอมชำระเงินดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินเงินสมทบหรือเงินเพิ่มตามวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด”
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความซึ่งเป็นชื่อของหมวด ๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“หมวด ๔
สิทธิและประโยชน์”
-----------------------
มาตรา ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
“มาตรา ๓๓/๑ ให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งจ้างงานผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามจำนวนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ได้รับสิทธิและประโยชน์ ดังต่อไปนี้
(๑) สิทธิที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษสำหรับเงินได้ของผู้ประกอบกิจการเป็นจำนวนร้อยละของค่าจ้างผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๓ ที่ได้จ่ายในช่วงอัตราค่าจ้างตามมาตรา ๓๙ (๕) ทั้งนี้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร
(๒) ประโยชน์ที่จะได้รับคำปรึกษาแนะนำจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์จำแนกตำแหน่งงานหรือการบริหารค่าจ้างและค่าตอบแทน
(๓) ประโยชน์ที่จะได้รับการพิจารณาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ประกอบกิจการซึ่งจ้างงานผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ แบบของเครื่องหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการอนุญาตและการใช้เครื่องหมาย ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(๔) สิทธิและประโยชน์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๘ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นจำนวนหกคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสองคน จากผู้แทนองค์กรอาชีพสองคน จากผู้แทนฝ่ายนายจ้างหนึ่งคน และจากผู้แทนฝ่ายลูกจ้างอีกหนึ่งคน
ให้อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการในกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรอาชีพ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบกระทรวงแรงงาน
มาตรา ๓๙ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน การรับรองความรู้ความสามารถ และกองทุน
(๒) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) ออกระเบียบหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพต่าง ๆ ตามมาตรา ๒๒ ทั้งนี้ ในกรณีที่มาตรฐานฝีมือแรงงานใดมีการกำหนดไว้โดยกฎหมายหรือเป็นมาตรฐานฝีมือแรงงานสากลที่ใช้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ให้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันนั้น
(๕) จำแนกและกำหนดระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพ และกำหนดช่วงอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นแนวทางในการบริหารค่าจ้างและค่าตอบแทนตามความรู้ความสามารถ
(๖) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานและการรับรองความรู้ความสามารถ
(๗) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการจ้างผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือผู้ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการ
(๘) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒)
(๙) ส่งเสริมให้มีการแข่งขันฝีมือแรงงาน
(๑๐) ส่งเสริมให้มีการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
(๑๑) ส่งเสริมการดำเนินการประเมินและการรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ
(๑๒) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรอาชีพและการมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(๑๓) ติดตามผลการพัฒนาฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การรับรองความรู้ความสามารถ และการดำเนินงานของกองทุน
(๑๔) พิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
(๑๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา ๔๐ ให้กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระในวรรคหนึ่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้”
มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) มีหนังสือเรียกผู้ดำเนินการฝึก ครูฝึก ผู้รับการฝึก ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบกิจการ ผู้ได้รับหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ผู้ประเมิน ผู้ขอรับการประเมิน ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือออกคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณา
(๒) เข้าไปในสถานที่ฝึก ศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สถานประกอบกิจการ หรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจตราและให้คำแนะนำต่อผู้ดำเนินการฝึก ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบกิจการ
ผู้ประเมิน ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๕ (๒) ให้ผู้ดำเนินการฝึก ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบกิจการ ผู้ประเมิน ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกตามสมควร”
มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความซึ่งเป็นชื่อของหมวด ๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“หมวด ๗
การเพิกถอนการเป็นผู้ดำเนินการฝึก การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต
การเพิกถอนหนังสือรับรองและการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย”
-----------------------
มาตรา ๑๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๙/๑ มาตรา ๔๙/๒ มาตรา ๔๙/๓ มาตรา ๔๙/๔ และมาตรา ๔๙/๕ ในหมวด ๗ การเพิกถอนการเป็นผู้ดำเนินการฝึก การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตการเพิกถอนหนังสือรับรองและการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
“มาตรา ๔๙/๑ ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ และการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัตินั้นสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง หากศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือไม่แก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินหยุดการดำเนินการจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องหรือแก้ไขให้ถูกต้อง
ในระหว่างถูกสั่งให้หยุดการดำเนินการ ห้ามศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการรับรองความรู้ความสามารถ
มาตรา ๔๙/๒ ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ และการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมิน
มาตรา ๔๙/๓ คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๙/๑ และมาตรา ๔๙/๒ ให้ทำเป็นหนังสือและแจ้งคำสั่งให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินนั้นทราบ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๘ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๙/๔ ในกรณีที่พบว่าสถานประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายตามมาตรา ๓๓/๑ (๓) มีการจ้างงานผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถน้อยกว่าจำนวนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ให้นายทะเบียนออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หากสถานประกอบกิจการไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ให้นายทะเบียนออกคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย
มาตรา ๔๙/๕ ในกรณีที่การออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามมาตรา ๒๖/๑๐ ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองความรู้ความสามารถนั้นได้”
มาตรา ๑๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
“มาตรา ๕๑/๑ ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) ผู้ประเมินสถานประกอบกิจการ หรือผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ซึ่งได้รับคำสั่งตามมาตรา ๔๙/๑ มาตรา ๔๙/๒ มาตรา ๔๙/๓ มาตรา ๔๙/๔ หรือมาตรา ๔๙/๕ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบโดยไม่ชักช้า
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด”
มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๓ ผู้ใดกระทำการเป็นผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานโดยมิได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๔ หรือดำเนินการฝ่าฝืนมาตรา ๔๙ วรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท”
มาตรา ๑๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๓/๑ มาตรา ๕๓/๒ มาตรา ๕๓/๓ มาตรา ๕๓/๔ มาตรา ๕๓/๕ มาตรา ๕๓/๖ และมาตรา ๕๓/๗ ในหมวด ๙ บทกำหนดโทษ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
“มาตรา ๕๓/๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖/๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๕๓/๒ ผู้ใดจ้างงานผู้ที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๓ ทำงานในสถานประกอบกิจการในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๗ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
มาตรา ๕๓/๓ ผู้ใดดำเนินการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) หรือเป็นผู้ประเมินโดยมิได้รับหนังสือรับรองจากนายทะเบียนตามมาตรา ๒๖/๗ หรือมาตรา ๒๖/๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
มาตรา ๕๓/๔ ผู้ใดใช้เครื่องหมายตามมาตรา ๓๓/๑ (๓) โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๕๓/๕ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๕ หรือมาตรา ๔๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๕๓/๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๙/๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๕๓/๗ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเปรียบเทียบได้”
มาตรา ๒๐ ให้เพิ่มบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕
มาตรา ๒๑ ให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
“อัตราค่าธรรมเนียม
-----------------------
(๑) สมุดประจำตัว เล่มละ ๑๐๐ บาท
(๒) การบันทึกข้อมูลในสมุดประจำตัว รายการละ ๕๐ บาท
แต่รวมกันไม่เกิน
ครั้งละ ๕๐๐ บาท
(๓) การขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ประเมินความรู้ ครั้งละ ๒,๐๐๐ บาท
ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒)
(๔) หนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท
ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒)
(๕) การต่ออายุหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมิน ครั้งละ ๑๐,๐๐๐ บาท
ความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒)
(๖) ใบแทนหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมิน ฉบับละ ๕๐๐ บาท
ความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒)
(๗) การประเมินเพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ ครั้งละ ๕,๐๐๐ บาท
ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๑๓ วรรคหนึ่ง
(๘) ใบแทนหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(๙) หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมิน ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท
(๑๐) ใบแทนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมิน ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(๑๑) บัตรประจำตัวผู้ประเมิน ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(๑๒) การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายตามมาตรา ๓๓/๑ (๓) ครั้งละ ๕,๐๐๐ บาท
ในการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานก็ได้”
เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๘๗ ก ราชกิจจานุเบกษา ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๕ ยังไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ และการพัฒนาประสิทธิภาพของสถานประกอบกิจการ รวมทั้งการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะจากการทำงาน เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำหนดให้การประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องดำเนินการโดยผู้มีความรู้ความสามารถที่ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถ โดยมีระบบการประเมินเพื่อรับรองความรู้ความสามารถ และให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินการของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกำหนดให้ค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการรับรองความรู้ความสามารถตกเป็นของกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองความรู้ความสามารถ อีกทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้