ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ article
วันที่ 12/01/2013   12:04:45

 

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น

หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ

-----------------------

 

โดยที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อ ๑๙ (๓) กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นจากหน่วยงานที่ทางราชการกำหนดหรือยอมรับไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนลูกจ้างในแต่ละหน่วยงานของสถานประกอบการ และข้อ ๓๖ วรรคสาม กำหนดให้นายจ้างที่ไม่สามารถฝึกซ้อมดับเพลิงหรือหนีไฟได้เองให้ขอความร่วมมือหน่วยงานดับเพลิงท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่ทางราชการรับรองช่วยดำเนินการฝึกซ้อม

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๙ (๓) และข้อ ๓๖ วรรคสาม แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบกับมาตรา ๑๖๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมหนีไฟ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

หมวด ๑

การขึ้นทะเบียน

-----------------------

ข้อ ๔ หน่วยงานที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ ได้แก่

(๑) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชน

(๒) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

 (๓) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลอื่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน

(๔) หน่วยงานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีที่นายจ้างมีความประสงค์จะจัดฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นให้แก่ลูกจ้างของนายจ้างนั้น ให้สามารถขึ้นทะเบียนตามวรรคหนึ่งได้เฉพาะการเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น

ข้อ ๕ หน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีบุคลากรซึ่งมีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทำหน้าที่บริหารจัดการการฝึกอบรมอย่างน้อยหนึ่งคน

(๒) มีวิทยากรซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๑๑ หรือข้อ ๑๒ แล้วแต่กรณี ปฏิบัติงานเต็มเวลาในหน่วยงานฝึกอบรมอย่างน้อยหนึ่งคน เว้นแต่หน่วยงานตามข้อ ๔ วรรคสองที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานเต็มเวลาก็ได้

(๓) มีเอกสารประกอบการฝึกอบรมที่มีเนื้อหาและรายละเอียดตามหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น ฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟที่ขอขึ้นทะเบียน

(๔) มีอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับหลักสูตรการฝึกอบรมที่ขอขึ้นทะเบียน

(๕) ไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง เว้นแต่พ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง แล้วแต่กรณี

(๖) ไม่มีผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น ฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟอื่น ณ วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง เว้นแต่พ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง

ข้อ ๖ ให้หน่วยงานที่มีความประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ ยื่นคำขอพร้อมเอกสารดังต่อไปนี้ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

(๑) สำเนาเอกสารที่แสดงความเป็นหน่วยงานตามข้อ ๔

(๒) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงาน

(๓) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงาน

(๔) สำเนาหนังสือแสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของนิติบุคคลหรือวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหน่วยงาน

(๕) แผนที่แสดงที่ตั้งของหน่วยงานโดยสังเขป

(๖) แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติโดยสังเขป

 (๗) รายชื่อวิทยากร เอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติของวิทยากร รวมทั้งหนังสือยืนยัน การเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงาน

(๘) เอกสารประกอบการฝึกอบรมที่มีเนื้อหาวิชาตามที่กำหนดในหลักสูตรที่ขอขึ้นทะเบียน

(๙) เอกสารแสดงรายการอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในหลักสูตรที่ขอขึ้นทะเบียน

ให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๗ เมื่อมีการยื่นคำขอตามข้อ ๖ และอธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ ให้อธิบดีขึ้นทะเบียนผู้ยื่นคำขอนั้นเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ และออกใบสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนพร้อมมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในห้าวันนับแต่วันที่ขึ้นทะเบียน

ในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ยื่นคำขอขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๕ ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยเร็ว

ข้อ ๘ ในกรณีที่ปรากฏภายหลังว่าหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามข้อ ๗ ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่ง อย่างใดตามข้อ ๕ ให้อธิบดีเพิกถอนทะเบียน

ข้อ ๙ ในกรณีที่หน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ตามข้อ ๗ มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง สถานภาพของหน่วยงาน วิทยากรฝึกอบรมหรือมีการเปลี่ยนแปลงอื่นใดจากที่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนไว้ ให้หน่วยงานนั้นส่งเอกสารแสดงการเปลี่ยนแปลง ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับ แต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อ ๑๐ การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟให้มีอายุคราวละห้าปีนับแต่วันที่ขึ้นทะเบียน

หน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอาจยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายได้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันที่การขึ้นทะเบียนจะสิ้นสุดลง และให้นำความในข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนโดยอนุโลม

หมวด ๒

วิทยากร

-----------------------

ข้อ ๑๑ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

 (๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีที่มีการเรียนวิชาเกี่ยวกับอัคคีภัย และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๒) ผ่านการอบรมในหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นก้าวหน้า ขั้นสูง หรือ ทีมดับเพลิง และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสองปี

(๓) ผ่านการอบรมหลักสูตรครูฝึกดับเพลิงหรือครูฝึกป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจากหน่วยงานราชการและมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสองปี

(๔) ปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานหรือเป็นพนักงานดับเพลิงในทีมดับเพลิงของสถานประกอบการ ทั้งนี้ ต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรการฝึก อบรมการดับเพลิงขั้นต้นขึ้นไป โดยมีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าสามปี และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๕) เคยปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานหรือเคยเป็นพนักงานดับเพลิงในทีมดับเพลิงของสถานประกอบการ ทั้งนี้ ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการฝึกอบรม การดับเพลิงขั้นต้นขึ้นไป โดยมีประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าห้าปี และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๖) ปฏิบัติงานหรือเคยปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานดับเพลิงของหน่วยงานราชการที่ผ่านการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นขึ้นไป โดยมีประสบการณ์ในการทำงานในหน้าที่พนักงานดับเพลิงไม่น้อยกว่าสามปี และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

ข้อ๑๒ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมการฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีที่มีการเรียนวิชาเกี่ยวกับอัคคีภัย และมีประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสองปี

(๒) ผ่านการอบรมด้านอัคคีภัยในหลักสูตรผู้อำนวยการการดับเพลิงหรือผ่านการอบรมหลักสูตรครูฝึกดับเพลิงหรือครูฝึกป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจากหน่วยงานราชการ โดยมีประสบการณ์ ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสองปี

(๓) ผ่านการอบรมในหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นก้าวหน้า ขั้นสูง หรือทีมดับเพลิง โดยมีประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสองปี

(๔) ปฏิบัติงานหรือเคยปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน โดยมีประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าห้าปี

(๕) ปฏิบัติงานหรือเคยปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานดับเพลิงของหน่วยงานราชการ โดยมีประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าห้าปี

ข้อ ๑๓ วิทยากรต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมหรือพัฒนาความรู้เกี่ยวข้องกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง

ข้อ ๑๔ ให้หน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งหลักฐานการฝึกอบรมเพิ่มเติมหรือการพัฒนาความรู้ของวิทยากร ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในวันที่สิบห้าของเดือนมกราคม

หมวด ๓

การดำเนินการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น

-----------------------

ข้อ ๑๕ หน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นต้องจัดให้มีการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

ข้อ ๑๖ การฝึกอบรมภาคทฤษฎีต้องมีกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง ต่อหลักสูตรและอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาวิชา ดังต่อไปนี้

(๑) ทฤษฎีการเกิดเพลิงไหม้

(๒) การแบ่งประเภทของเพลิง

(๓) จิตวิทยาเมื่อเกิดอัคคีภัย

(๔) การป้องกันแหล่งกำเนิดของการติดไฟ

(๕) วิธีดับเพลิงประเภทต่าง ๆ

(๖) เครื่องมือดับเพลิงชนิดต่าง ๆ

(๗) วิธีการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในการดับเพลิง

(๘) แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย

(๙) การจัดระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย การประยุกต์ใช้ระบบและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในสถานประกอบการ

ข้อ ๑๗ การฝึกอบรมภาคปฏิบัติต้องมีกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อหลักสูตร โดยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนได้รับการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงและอย่างน้อยต้องมีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) การดับเพลิงจากเพลิงประเภท เอ โดยต้องให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือที่ใช้น้ำสะสมแรงดัน หรือสารเคมีดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงประเภท เอ

(๒) การดับเพลิงจากเพลิงประเภท บี โดยต้องให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือที่ใช้สารเคมีดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ โฟม ผงเคมีแห้ง หรือสารเคมีดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงประเภท บี

 (๓) การดับเพลิงจากเพลิงประเภท ซี โดยต้องให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือที่ใช้สารเคมีดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ ผงเคมีแห้ง หรือสารเคมีที่สามารถใช้ดับเพลิงประเภท ซี

(๔) การดับเพลิงจากเพลิงประเภท ดี โดยต้องให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการฝึกโดยวิธีการให้วิทยากรผู้ฝึกสาธิตการดับเพลิงจริงต่อผู้เข้ารับการฝึก

(๕) การดับเพลิงโดยใช้สายดับเพลิง

ข้อ ๑๘ สถานที่ฝึกภาคปฏิบัติอย่างน้อยต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) มีสถานที่เป็นสัดส่วน

(๒) มีความปลอดภัยต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมและชุมชนใกล้เคียง

(๓) ไม่อยู่ในบริเวณที่ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการระเบิด หรือติดไฟได้ง่ายต่อสถานที่ใกล้เคียง

(๔) ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีระบบกำจัดที่เหมาะสม

ข้อ ๑๙ อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกภาคปฏิบัติ อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องดับเพลิงแบบมือถือที่สามารถดับเพลิงประเภท เอ ประเภท บี และประเภท ซี

(๒) สายส่งน้ำดับเพลิง สายฉีดน้ำดับเพลิง กระบอกฉีดน้ำดับเพลิง หรือหัวฉีดน้ำดับเพลิง

(๓) อุปกรณ์ดับเพลิงที่จำเป็นต้องใช้ในสถานประกอบการ

(๔) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชุดดับเพลิง ถุงมือ รองเท้า หมวกดับเพลิงที่มีกระบังหน้า หน้ากากป้องกันความร้อน

อุปกรณ์ตาม (๑) ถึง (๔) ต้องสามารถใช้งานได้ดี มีความปลอดภัยต่อการฝึกและต้องมีจำนวนที่เพียงพอต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม

ข้อ ๒๐ การฝึกอบรมภาคทฤษฎีหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นต้องจัดให้ห้องฝึกอบรมหนึ่งห้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินหกสิบคน และมีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นต้องจัดให้มีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคนต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินยี่สิบคน

หมวด ๔

การดำเนินการฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ

-----------------------

ข้อ ๒๑ หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟต้องจัดให้มีการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟ

ข้อ ๒๒ การฝึกอบรมภาคทฤษฎีต้องมีกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงต่อหลักสูตรและอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาวิชาที่อบรม ดังต่อไปนี้

 (๑) แผนการดับเพลิงและวิธีการดับเพลิงของสถานประกอบการ

(๒) แผนการอพยพหนีไฟและวิธีการอพยพหนีไฟของสถานประกอบการ

(๓) การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ข้อ ๒๓ การฝึกภาคปฏิบัติต้องมีการฝึกซ้อม ดังต่อไปนี้

(๑) การดับเพลิงด้วยเครื่องดับเพลิงแบบมือถือและสายดับเพลิง

(๒) การดับเพลิงจากเพลิงประเภทต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสถานประกอบการ

(๓) การอพยพหนีไฟ

(๔) การค้นหา ช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย

ให้หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟจัดให้มีการฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมปฏิบัติงานอยู่

ข้อ ๒๔ หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟต้องจัดให้มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการฝึกอบรมและการฝึกซ้อม รวมทั้งต้องมีความเหมาะสมกับการดับเพลิงและการหนีไฟของสถานประกอบการ

อุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งต้องสามารถใช้งานได้ มีความปลอดภัยต่อการฝึกอบรม การฝึกซ้อม และมีจำนวนที่เพียงพอต่อผู้เข้ารับการฝึก

หมวด ๔

การกำกับดูแล

-----------------------

ข้อ ๒๕ ให้หน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแจ้งการฝึกอบรม หรือการฝึกซ้อมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนการฝึกอบรม หรือการฝึกซ้อม แล้วแต่กรณี

ข้อ ๒๖ ให้หน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งรายงานสรุปผลการฝึกอบรม หรือการฝึกซ้อมพร้อมด้วยรายชื่อวิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมหรือฝึกซ้อมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม หรือการฝึกซ้อม แล้วแต่กรณี

ข้อ ๒๗ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มีอำนาจเข้าไปในหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สถานที่จัดฝึกอบรมหรือฝึกซ้อม เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ตรวจสอบ หรือกำกับดูแลให้หน่วยงาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้

ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งสิ่งของ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๒๘ หน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

 (๑) มีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

(๒) สั่งให้หยุดการดำเนินงานเป็นการชั่วคราว

(๓) เพิกถอนทะเบียน

บทเฉพาะกาล

-----------------------

ข้อ ๓๑ หน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อม หนีไฟซึ่งได้ใบรับรองตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมหนีไฟ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้ถือว่าเป็นหน่วยงานฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนตามประกาศนี้ จนกว่าใบรับรองจะสิ้นอายุ

 

                                                                           ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

                                                                                                               

                                                                                      ผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

                                                                             อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th