ข้อบังคับสภาวิศวกร
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ
สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่
พ.ศ. ๒๕๕๑
-----------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๖) (ฉ) และมาตรา ๔๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย สภาวิศวกรโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สามัญสภาวิศวกร และโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๕๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้งาน ประเภท และขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐
ข้อ ๔ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ แขนงเหมืองแร่ ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานเหมืองแร่ ได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด
ข้อ ๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ แขนงเหมืองแร่ ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานเหมืองแร่ ได้เฉพาะงานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต
งานพิจารณาตรวจสอบ และงานอำนวยการใช้ ตามประเภทและขนาดดังนี้
(๑) การทำเหมืองแร่ที่ใช้กำลังสูงสุดรวมกันไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ กิโลวัตต์
(๒) การทำเหมืองใต้ดินที่มีหน้าตัดไม่เกิน ๒๐ ตารางเมตร หรือมีกำลังการผลิตสูงสุดไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี
(๓) การเจาะอุโมงค์ในเหมือง หรือปล่องหรือโพรงในหินที่มีหน้าตัดไม่เกิน ๒๐ ตารางเมตร หรือมีกำลังการผลิตสูงสุดไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี
(๔) งานวิศวกรรมที่มีการใช้วัตถุระเบิด ที่มีปริมาณวัสดุจากการระเบิดไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อวัน หรือไม่เกิน ๓,๕๐๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี
(๕) การโม่ บด หรือย่อยแร่และหินทุกขนาด
(๖) การแยกวัสดุต่าง ๆ ออกจากของที่ใช้แล้ว โดยใช้กรรมวิธีทางการแต่งแร่ทุกขนาด
(๗) การแต่งแร่ทุกขนาด
ข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ แขนงเหมืองแร่ ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานเหมืองแร่ ได้เฉพาะงานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ และงานอำนวยการใช้ ตามประเภทและขนาดดังนี้
(๑) การทำเหมืองแร่ที่ใช้กำลังสูงสุดรวมกันไม่เกิน ๑,๒๐๐ กิโลวัตต์
(๒) งานวิศวกรรมที่มีการใช้วัตถุระเบิด ที่มีปริมาณวัสดุจากการระเบิดไม่เกิน ๘๐๐ เมตริกตันต่อวัน หรือไม่เกิน ๒๘๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี
(๓) การแยกวัสดุต่าง ๆ ออกจากของที่ใช้แล้ว โดยใช้กรรมวิธีทางการแต่งแร่ ที่ใช้กำลังสูงสุดรวมกันไม่เกิน ๒๐๐ กิโลวัตต์
(๔) การแต่งแร่ที่ใช้กำลังสูงสุดรวมกันไม่เกิน ๕๐๐ กิโลวัตต์
ข้อ ๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ แขนงเหมืองแร่ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานเหมืองแร่ ได้ตามงาน ประเภท และขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
ข้อ ๘ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ แขนงโลหะการ ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานโลหะการ ได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด
ข้อ ๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ แขนงโลหะการ ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานโลหะการ ได้เฉพาะงานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ และงานอำนวยการใช้ ตามประเภทและขนาดดังนี้
(๑) การแยกวัสดุต่าง ๆ ออกจากของที่ใช้แล้วโดยใช้กรรมวิธีทางการแต่งแร่ทุกขนาด
(๒) การแต่งแร่ทุกขนาด
(๓) การถลุงแร่เหล็กหรือการผลิตเหล็กกล้าที่มีกำลังการผลิตสูงสุดไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี
(๔) การถลุงแร่อื่น ๆ หรือการสกัดโลหะ โลหะเจือ หรือสารประกอบโลหะออกจากแร่ตะกรัน เศษโลหะ วัสดุ หรือสารอื่นใด รวมทั้งการทำโลหะให้บริสุทธิ์ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี หรืองานที่ลงทุนไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทโดยไม่รวมค่าที่ดิน และไม่รวมมูลค่าของข้อ ๙ (๓)
(๕) การหลอม การหล่อ การแปรรูป การปรับปรุงคุณสมบัติด้วยความร้อนการตกแต่งผิว หรือการชุบเคลือบโลหะสำหรับงานที่ใช้คนงานไม่เกินสามร้อยคน หรืองานที่ลงทุนไม่เกินหกสิบล้านบาทโดยไม่รวมค่าที่ดิน
ข้อ ๑๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ แขนงโลหะการ ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานโลหะการ ได้เฉพาะงานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ และงานอำนวยการใช้ ตามประเภทและขนาดดังนี้
(๑) การแต่งแร่ที่ใช้กำลังสูงสุดรวมกันไม่เกิน ๕๐๐ กิโลวัตต์
(๒) การถลุงแร่เหล็กหรือการผลิตเหล็กกล้าที่มีกำลังการผลิตสูงสุดไม่เกิน ๘๐ เมตริกตันต่อวัน หรือไม่เกิน ๒๘,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี
(๓) การถลุงแร่อื่น ๆ หรือการสกัดโลหะ โลหะเจือ หรือสารประกอบโลหะออกจากแร่ตะกรัน เศษโลหะ วัสดุ หรือสารอื่นใด รวมทั้งการทำโลหะให้บริสุทธิ์ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดไม่เกิน ๕,๐๐๐ เมตริกตันต่อปี หรืองานที่ลงทุนไม่เกินยี่สิบล้านบาทโดยไม่รวมค่าที่ดิน และไม่รวมมูลค่าของข้อ ๑๐ (๒)
(๔) การหลอม การหล่อ การแปรรูป การปรับปรุงคุณสมบัติด้วยความร้อนการตกแต่งผิว หรือการชุบเคลือบโลหะสำหรับงานที่ใช้คนงานไม่เกินหนึ่งร้อยคน หรืองานที่ลงทุนไม่เกินสามสิบล้านบาทโดยไม่รวมค่าที่ดิน
ข้อ ๑๑ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ แขนงโลหะการ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานโลหะการ ได้ตามงาน ประเภท และขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ ตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสภาวิศวกรเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาวิศวกรให้เป็นที่สุด
ข้อ ๑๓ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๘) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ สามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ งานเหมืองแร่ และงานโลหะการได้ตามระดับใบอนุญาตที่ได้รับ
ข้อ ๑๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามประเภท และสาขาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้นั้นประกอบการงานนั้นต่อไปได้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
วิระ มาวิจักขณ์
นายกสภาวิศวกร
เล่ม ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๑๗๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑