ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




กฎกระทรวง กำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นในโรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ article
วันที่ 12/01/2013   10:58:07

 

กฎกระทรวง

กำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบทำความเย็น

ที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นในโรงงาน

พ.ศ. ๒๕๕๔

-----------------------

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้

ระบบทำความเย็นหมายความว่า ระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น

ภาชนะรับความดันหมายความว่า ภาชนะปิดที่มีความดันภายในภาชนะและภายนอก ภาชนะแตกต่างกันมากกว่า ๑.๕ เท่าของความดันบรรยากาศ และมีเส้นผ่าศูนย์กลางภายในตั้งแต่ ๑๕๒.๔ มิลลิเมตร ขึ้นไป

คอมเพรสเซอร์ หมายความว่า เครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์และส่วนควบที่ใช้อัดไอแอมโมเนียของระบบทำความเย็น

คอนเดนเซอร์ หมายความว่า อุปกรณ์ที่ใช้ระบายความร้อนจากไอแอมโมเนียเพื่อให้ไอแอมโมเนียกลั่นตัวเป็นของเหลว

ท่อ หมายความว่า ท่อที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างส่วนต่าง ๆ ของระบบทำความเย็น

อุปกรณ์ในระบบทำความเย็น หมายความว่า อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบกับระบบทำความเย็นเพื่อให้ระบบทำงานได้

อุปกรณ์ระบายความดัน หมายความว่า อุปกรณ์ที่ใช้ระบายความดัน เมื่อแอมโมเนียมีความดันเกินกว่าที่กำหนดไว้

อุปกรณ์ความปลอดภัย หมายความว่า อุปกรณ์ที่ใช้อำนวยความปลอดภัยในระบบทำความเย็นนอกเหนือจากอุปกรณ์ระบายความดัน

หมวด ๑

การออกแบบ การผลิต และการติดตั้ง

-----------------------

ข้อ ๒ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ผลิตหรือสร้างเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในระบบทำความเย็นต้องจัดให้มีการออกแบบและการผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานอื่นที่ยอมรับกันตามที่รัฐมนตรีกำ หนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๓ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ใช้ระบบทำความเย็นต้องใช้ระบบทำความเย็นที่ได้รับการออกแบบและการผลิตตามมาตรฐานตามข้อ ๒ และต้องติดตั้งระบบทำความเย็นตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานอื่นที่ยอมรับกันตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๔ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีการติดตั้งระบบทำความเย็นต้องจัดทำและส่งรายงานข้อมูลการติดตั้ง การตรวจสอบและทดสอบหลังการติดตั้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการติดตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๒

เครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็น

-----------------------

ข้อ ๕ เครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็นอย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ระบายความดันและอุปกรณ์ความปลอดภัย และเป็นไปตามข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็นต้องอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะใช้งาน

(๒) อุปกรณ์ในระบบทำความเย็น

(ก) คอมเพรสเซอร์ทุกตัวต้องติดตั้ง

๑) วาล์วสกัดทางดูด

๒) วาล์วสกัดทางส่ง

๓) สวิตช์ตัดความดันต่ำ

๔) สวิตช์ตัดความดันสูง

๕) สวิตช์ตัดความดันน้ำ มันต่ำ และ อุปกรณ์วัดความดันน้ำ มันในกรณีที่คอมเพรสเซอร์ใช้ปั๊มน้ำมัน

๖) อุปกรณ์วัดความดันทางดูดและความดันทางส่ง

(ข) คอนเดนเซอร์แบบเปลือกและท่อ (Shell and tubes condenser) และภาชนะรับความดันต้องติดตั้งอุปกรณ์ระบายความดัน

(ค) ปั๊มแอมโมเนียต้องติดตั้งวาล์วสกัดท่อทางเข้าและทางออกของปั๊ม

(ง) อุปกรณ์ดูระดับของแอมโมเนียต้องติดตั้งวาล์วสกัดหัวท้าย และหลอดแก้วต้องมีแผ่นกั้นที่แข็งแรงกันกระแทก ๓๖๐ องศา ล้อมรอบตลอดความยาวของหลอดแก้ว

(๓) อุปกรณ์ระบายความดัน

(ก) ต้องติดตั้งวาล์วนิรภัยแบบเดี่ยวหรือแบบคู่ หรืออุปกรณ์ระบายความดันชนิดอื่นที่เหมาะสมบนภาชนะรับความดัน คอนเดนเซอร์ ถังแยกน้ำมัน ถังถ่ายน้ำมันทุกใบ และ ณ จุดต่าง ๆ ในระบบทำความเย็นที่จำเป็นต้องมี เพื่อป้องกันการแตกรั่วจากความดันเกิน

(ข) ต้องไม่ติดตั้งวาล์วสกัดระหว่างวาล์วนิรภัยกับส่วนของระบบทำความเย็น เว้นแต่จะใช้วาล์วสามทางร่วมกันกับวาล์วระบายความดันแบบคู่ และต้องเปิดวาล์วในตำแหน่งเปิดเต็มที่ขณะที่ระบบทำความเย็นทำงาน

(ค) วาล์วนิรภัยทุกตัวต้องตั้งค่าความดันเริ่มเปิดไม่เกินกว่าค่าความดันออกแบบของระบบทำความเย็นหรืออุปกรณ์ในระบบทำความเย็น แต่ต้องไม่ต่ำกว่าค่าความดันแอมโมเนียที่อุณหภูมิบรรยากาศ ณ จุดที่ใช้งาน

(๔) ข้อกำหนดทั่วไป

(ก) ท่อทางส่งแอมโมเนียจากคอมเพรสเซอร์ไปคอนเดนเซอร์ต้องมีวาล์วกันกลับทางส่ง

(ข) วาล์วสกัดหลักต่าง ๆ ในระบบทำความเย็นต้องอยู่ในที่เข้าถึงได้สะดวก และมีป้ายชื่อบอกชัดเจน

หมวด ๓

การใช้งานและบำรุงรักษา

-----------------------

ข้อ ๖ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ใช้ระบบทำความเย็นต้องจัดทำและดำเนินการตามแผนการบำรุงรักษาระบบทำความเย็น รวมถึงอุปกรณ์ในระบบทำความเย็นตามหลักวิชาการด้านวิศวกรรมเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

หมวด ๔

การซ่อมแซมและดัดแปลง

-----------------------

ข้อ ๗ การดำเนินการซ่อมแซมและดัดแปลงระบบทำความเย็นต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานอื่นที่ยอมรับกันตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๘ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดทำและส่งรายงานผลการดำเนินการซ่อมแซมและดัดแปลง และผลการตรวจสอบและทดสอบหลังจากที่ได้ซ่อมแซมและดัดแปลงระบบทำความเย็นให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ทราบก่อนการใช้งานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๕

การตรวจสอบและทดสอบ

-----------------------

ข้อ ๙ การตรวจสอบและทดสอบความปลอดภัยของเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ใช้ระบบทำความเย็นต้องจัดให้มีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อตรวจสอบและทดสอบการใช้งานระบบทำความเย็นให้มีความปลอดภัยอยู่เสมออย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดทำและส่งรายงานผลการตรวจสอบและทดสอบความปลอดภัยของเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็นให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือสำนักงานอุตสาหกรรมจัดหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทำการตรวจสอบหรือทดสอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๖

การยกเลิกการใช้งาน

-----------------------

ข้อ ๑๒ การยกเลิกการใช้งานระบบทำความเย็น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๗

ลักษณะอาคารโรงงาน

-----------------------

ข้อ ๑๓ อาคารโรงงานต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) ห้ามติดตั้งเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในระบบทำความเย็นบริเวณทางเข้าออก

(๒) ต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจไอระเหยของสารแอมโมเนีย ณ บริเวณห้องเครื่องและห้องปฏิบัติการคนงานที่มีการติดตั้งระบบทำความเย็น โดยติดตั้งอย่างน้อยห้องละหนึ่งจุด

(๓) ต้องมีการป้องกันความเสียหายเชิงกล โดยห้ามติดตั้งระบบทำความเย็นและอุปกรณ์ต่าง ๆ บริเวณปล่องลิฟต์ ปล่องชักรอก หรือปล่องที่มีการเคลื่อนที่ของวัตถุต่าง ๆ ภายในอาคาร ตลอดจนบริเวณที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงกลอื่น ๆ

(๔) ห้องเครื่องต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(ก) ต้องติดตั้งระบบระบายอากาศอย่างน้อยหนึ่งระบบ ดังต่อไปนี้

๑) มีช่องระบายอากาศขนาดเหมาะสมเพื่อให้อากาศหมุนเวียนภายในอย่างเพียงพอและเกิดความปลอดภัยแก่คนงาน หรือ

๒) ติดตั้งพัดลมระบายอากาศที่สามารถเปลี่ยนอากาศในห้องได้อย่างสมบูรณ์ภายในยี่สิบนาที และระบายอากาศเก่าทั้งหมดออกสู่ภายนอกอาคาร

(ข) ต้องมีขนาดที่สามารถติดตั้งเครื่องจักรได้พอเหมาะ

(ค) ต้องสามารถเข้าไปทำการตรวจตรา บำรุงรักษา และปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก

(ง) ทางเดินต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีความกว้างอย่างน้อย ๙๐ เซนติเมตร และความสูงอย่างน้อย ๒๐๐ เซนติเมตร

(จ) มีทางเข้าออกอย่างน้อยสองทาง

(ฉ) มีป้ายห้ามบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในห้องเครื่อง

(๕) ท่อแอมโมเนียที่อยู่ใต้ดินต้องมีการป้องกันการกัดกร่อนที่เหมาะสม

หมวด ๘

บุคลากรประจำโรงงาน

-----------------------

ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ใช้ระบบทำความเย็นต้องจัดให้มีผู้ควบคุมดูแลการทำงานประจำระบบทำความเย็น โดยผู้ควบคุมดังกล่าวต้องมีคุณวุฒิได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงด้านช่างอุตสาหกรรมที่มีหน่วยการศึกษาด้านระบบทำความเย็นและระบบปรับอากาศ หรือช่างผู้ชำนาญงานที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมระบบทำความเย็นจากกระทรวงอุตสาหกรรมหรือสถาบันอื่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบ และเป็นคนงานประจำโรงงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ ๑๕ คนงาน วิศวกร หรือสถาปนิกที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม การออกแบบ การผลิต การซ่อมแซมหรือดัดแปลง หรือการตรวจสอบหรือทดสอบระบบทำความเย็นหรือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็น ต้องมีคุณสมบัติและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๙

การควบคุมการปล่อยมลพิษ

-----------------------

ข้อ ๑๖ การระบายไอแอมโมเนียต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) การระบายไอแอมโมเนียสู่บรรยากาศ ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการด้านวิศวกรรมและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคน ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

(๒) การระบายไอแอมโมเนียผ่านน้ำ ต้องระบายผ่านน้ำที่ใช้สำหรับดูดซับแอมโมเนียเท่านั้นและต้องใช้น้ำในถังหรือสิ่งบรรจุอื่นอย่างน้อย ๘.๓๔๔ ลิตร ต่อการระบายไอแอมโมเนียจากระบบ ๑ กิโลกรัม โดยถังต้องมั่งคงแข็งแรงและมีฝาปิดหรือสิ่งบรรจุอื่น ต้องมีความปลอดภัยเพียงพอ ทั้งนี้ต้องจัดการน้ำที่ดูดซับแอมโมเนียแล้วตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อคน ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

หมวด ๑๐

การเตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉิน

-----------------------

ข้อ ๑๗ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดทำแผนฉุกเฉินในกรณีแอมโมเนียรั่วไหลและต้องจัดให้มีการฝึกซ้อมตามแผนฉุกเฉินดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ข้อ ๑๘ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ ถุงมือ หน้ากาก รองเท้า และชุด ที่ใช้สำหรับป้องกันแอมโมเนีย หรืออุปกรณ์อื่นที่จำเป็น เช่น เครื่องช่วยหายใจรวมถึงอุปกรณ์ในการระงับอุบัติภัยที่เหมาะสม เก็บไว้ในที่ที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวกและต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ

ข้อ ๑๙ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีที่ชำระล้างแอมโมเนีย ได้แก่ ที่ล้างตาฉุกเฉินและฝักบัวล้างตัวฉุกเฉิน หรืออุปกรณ์อื่นที่เหมาะสม เพื่อให้บุคลากรประจำโรงงานสามารถใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

บทเฉพาะกาล

-----------------------

ข้อ ๒๐ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ประกอบกิจการโรงงานอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ข้อ ๒๑ บทบัญญัติในข้อ ๕ (๔) (ข) และข้อ ๑๓ (๑) และ (๔) (ข) (ค) (ง) และ (จ) ไม่ใช้บังคับกับผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ประกอบกิจการโรงงานอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับเว้นแต่ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นได้ยื่นขออนุญาตขยายโรงงานตามมาตรา ๑๘

 

                                                                                                ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

                                                                                                                ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์

                                                                                                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นในการประกอบกิจการโรงงาน สมควรกำหนดให้มีมาตรการความปลอดภัยในเรื่องดังกล่าว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงาน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๕ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ เมษายน ๒๕๕๔

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th