ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล พ.ศ. 2566

 ข้อบังคับสภาวิศวกร
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ
สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
พ.ศ. 2566
-----------------------

 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (6) (ฉ) มาตรา 46 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ วิศวกร พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565 สภาวิศวกรโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่1/2565 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 และโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร ออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล พ.ศ. 2566

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ 22 มิถุนายน 2566)

ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล พ.ศ. 2551

ข้อ 4 ให้งาน ประเภท และขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกลเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565

ข้อ 5 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด

ข้อ 6 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้เฉพาะงาน ประเภท และขนาด ดังนี้

(1) งานวางโครงการ ทุกประเภทและทุกขนาด

(2) งานออกแบบและคำนวณ

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังไม่เกิน 750 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นที่มีความดันเกจไม่เกิน 4,000 กิโลปาสกาล หรืออัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน 20,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่อง

(ค) ภาชนะรับแรงดันทุกขนาด เว้นแต่ที่มีสารเป็นพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ง) เตาอุตสาหกรรมทุกขนาดที่มีขนาดอัตราความร้อนไม่เกิน 800 กิโลวัตต์ต่อเตา

(จ) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องทำความร้อนที่มีลักษณะ

1) การออกแบบเพื่อสร้างตัวเครื่องและอุปกรณ์ (Equipment Design) ที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 700 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

2) การออกแบบเพื่อประกอบเป็นระบบ (System Design) ในระบบที่มีขนาดทำความเย็นหรือความร้อนไม่เกิน 9,000 กิโลวัตต์

(ฉ) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันเกจของไหลในท่อทุกขนาด เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ช) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ทำได้ทุกขนาด

(ซ) การจัดการพลังงาน ทำได้ทุกขนาด

(3) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังไม่เกิน 2,000 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ที่มีความดันเกจไม่เกิน 4,000 กิโลปาสกาล หรือที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน 30,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่อง

(ค) ภาชนะรับแรงดันที่มีความดันเกจไม่เกิน 4,000 กิโลปาสกาล หรือปริมาตรไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตรต่อถัง

(ง) เตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดอัตราความร้อนไม่เกิน 2,000 กิโลวัตต์ต่อเตา

(จ) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องทำความร้อน ที่มีลักษณะดังนี้

1) การสร้างหรือการผลิตหรือการซ่อมหรือการดัดแปลงที่มีขนาดทำความเย็น หรือทำความร้อนไม่เกิน 1,500 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

2) การติดตั้งหรือการรื้อถอนหรือการเคลื่อนย้ายทุกขนาด

(ฉ) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันเกจของไหลในท่อไม่เกิน 3,000 กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุม วัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ช) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ทำได้ทุกขนาด

(4) งานพิจารณาตรวจสอบ ทำได้ทุกประเภทและทุกขนาดตาม (2) (3) (4) และ (6) ของกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565

(5) งานอำนวยการใช้

(ก) ระบบเครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังรวมกันไม่เกิน 5,000 กิโลวัตต์

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นที่มีความดันเกจไม่เกิน 5,000 กิโลปาสกาลหรือ ที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน 100,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่องหรือในระบบ ที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน 300,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

(ค) ภาชนะรับแรงดันที่มีความดันเกจไม่เกิน 5,000 กิโลปาสกาล หรือมีปริมาตรไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เมตรต่อถัง

(ง) เตาอุตสาหกรรม ที่มีขนาดอัตราความร้อนไม่เกิน 3,000 กิโลวัตต์ต่อเตา หรืออัตราความร้อนรวมไม่เกิน 10,000 กิโลวัตต์

(จ) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือความร้อนทุกขนาด

(ฉ) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันเกจของไหลในท่อทุกขนาด เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ช) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ทำได้ทุกขนาด

(ซ) การจัดการพลังงาน ทำได้ทุกขนาด

ข้อ 7 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้เฉพาะงาน ประเภท และขนาด ดังนี้

(1) งานวางโครงการ

(ก) เครื่องจักรกลที่มีมูลค่าไม่เกินเจ็ดสิบห้าล้านบาทต่อโครงการ หรือที่มีขนาดกำลังรวมไม่เกิน 500 กิโลวัตต์ หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยคน

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นที่มีมูลค่าไม่เกินเจ็ดสิบห้าล้านบาทต่อโครงการ หรือที่ใช้ความร้อนไม่เกิน 100 ล้านเมกะจูลต่อปี หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคาร ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยคน

(ค) ภาชนะรับแรงดันที่มีมูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาทต่อโครงการ หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ ไม่เกิน 500 คน

(ง) เตาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าไม่เกินเจ็ดสิบห้าล้านบาทต่อโครงการ หรือที่มีอัตราความร้อนไม่เกิน 5,000 กิโลวัตต์ต่อโครงการ หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยคน

(จ) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องทำความร้อนที่มีมูลค่าไม่เกินเจ็ดสิบห้าล้านบาทต่อโครงการ หรือที่มีขนาดทำความเย็นของระบบไม่เกิน 1,750 กิโลวัตต์ หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคาร ที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยคน

(ฉ) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีมูลค่าไม่เกินเจ็ดสิบห้าล้านบาทต่อโครงการ หรือที่มีขนาดกำลังของไหล ของระบบไม่เกิน 500 กิโลวัตต์ หรือที่ใช้งานในอาคาร ที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ ไม่เกินห้าร้อยคน

(ช) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยซึ่งไม่ใช่ระบบดับเพลิงแบบพิเศษ เช่น การใช้ก๊าซหรือโฟมสำหรับดับเพลิง ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสิบห้าล้านบาทต่อโครงการ หรือที่มีพื้นที่ป้องกัน อัคคีภัยไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร

(ซ) การจัดการพลังงานที่มีขนาดไม่เกิน 2 เมกะวัตต์ต่อโครงการหรือใช้ความร้อนไม่เกิน 40 ล้านเมกะจูลต่อปีต่อโครงการ

(2) งานออกแบบและคำนวณ

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง เว้นแต่เครื่องจักรกล สำหรับลิฟต์หรือบันไดเลื่อนหรือปั่นจั่นขนาดกำลังไม่เกิน 20 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นที่มีความดันเกจไม่เกิน 1,000 กิโลปาสกาล หรืออัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน 5,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่อง

(ค) ภาชนะรับแรงดันที่มีความดันเกจไม่เกิน 1,000 กิโลปาสกาล หรือปริมาตรไม่เกิน 3 ลูกบาศก์เมตรต่อถัง เว้นแต่ที่มีสารเป็นพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุม วัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ง) เตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดอัตราความร้อนไม่เกิน 350 กิโลวัตต์ต่อเตา

(จ) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องทำความร้อนที่มีลักษณะ ดังนี้

1) การออกแบบเพื่อสร้างตัวเครื่องและอุปกรณ์ (Equipment Design) ที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

2) การออกแบบเพื่อประกอบเป็นระบบ (System Design) ที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 300 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ฉ) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศ ดังนี้

1) ที่มีความดันเกจของไหลในท่อไม่เกิน 1,500 กิโลปาสกาล หรือ

2) สุญญากาศเกจไม่ต่ำกว่าลบ 80 กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ช) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ซึ่งไม่ใช่ระบบดับเพลิงแบบพิเศษ เช่น การใช้ ก๊าซหรือโฟม เป็นต้น ที่มูลค่ารวมกันไม่เกิน 7.5 ล้านบาทต่อระบบ หรือที่มีพื้นที่ป้องกันอัคคีภัย ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร

(ซ) การจัดการพลังงานขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ หรือใช้พลังงานความร้อนไม่เกิน 20 ล้านเมกะจูลต่อปี

(3) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังไม่เกิน 500 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นที่มีความดันเกจไม่เกิน 2,000 กิโลปาสกาล หรือที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน 5,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่อง

(ค) ภาชนะรับแรงดันที่มีความดันเกจไม่เกิน 2,000 กิโลปาสกาล หรือที่มีปริมาตรไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อถัง

(ง) เตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดอัตราความร้อนไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ต่อเตา

(จ) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องทำความร้อนที่มีขนาดทำความเย็นหรือทำความร้อนไม่เกิน 350 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง หรือรวมไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ เว้นแต่สารทำความเย็นเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ฉ) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศ ดังนี้

1) ที่มีความดันเกจของไหลในท่อไม่เกิน 1,500 กิโลปาสกาลต่อระบบ หรือ

2) สุญญากาศเกจไม่ต่ำกว่าลบ 80 กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึง สารทำความเย็นทั่วไป

(ช) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ทำได้ทุกขนาด

(4) งานพิจารณาตรวจสอบ

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) ลิฟต์โดยสารหรือลิฟต์ขนส่งที่บุคคลสามารถเข้าไปโดยสารได้ทุกขนาด

(ค) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันสำหรับแก๊สเชื้อเพลิงในยานพาหนะทุกขนาด

(ง) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยทุกขนาด

(5) งานอำนวยการใช้

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังรวมไม่เกิน 2,000 กิโลวัตต์ต่อระบบ

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นที่มีความดันเกจไม่เกิน 2,000 กิโลปาสกาลหรือที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน 30,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่อง หรือที่มีขนาดรวมไม่เกิน 100,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

(ค) ภาชนะรับแรงดันที่มีความดันเกจไม่เกิน 2,000 กิโลปาสกาลหรือมีปริมาตรไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตรต่อถัง

(ง) เตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดอัตราความร้อนไม่เกิน 1,500 กิโลวัตต์ต่อเตา หรืออัตราความร้อนรวมไม่เกิน 6,000 กิโลวัตต์

(จ) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นที่มีขนาดทำความเย็นหรือทำความร้อนของระบบไม่เกิน 2,000 กิโลวัตต์

(ช) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศ ดังนี้

1) ที่มีความดันเกจของไหลในท่อไม่เกิน 2,000 กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึง สารทำความเย็นทั่วไป

2) สุญญากาศเกจ ไม่ต่ำกว่าลบ 80 กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึง สารทำความเย็นทั่วไป

(ซ) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ทำได้ทุกขนาด

(ฌ) การจัดการพลังงานสถานประกอบการที่มีการใช้พลังไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ หรือใน 1 ปี ใช้พลังงานความร้อนไม่เกิน 200 ล้านเมกะจูล

ข้อ 8 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้ตามงาน ประเภท และขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

ข้อ 9 ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสภาวิศวกรเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาวิศวกรให้เป็นที่สุด

ข้อ10 ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามระดับ และสาขาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขตามกฎกระทรวงกำหนด สาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ มีผลใช้บังคับ ให้ผู้นั้นประกอบการงานนั้นต่อไปได้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ

 

ประกาศ ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566
รองศาสตราจารย์ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์
นายกสภาวิศวกร

 

เล่ม 140 ตอนพิเศษ 146 ง ราชกิจจานุเบกษา 21 มิถุนายน 2566

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.

   

                                  ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1                                      



  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th