ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. 2566

ข้อบังคับสภาวิศวกร
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ
สาขาวิศวกรรมโยธา
พ.ศ. 2566

-----------------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (6) (ฉ) มาตรา 46 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565 สภาวิศวกรโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่1/2565 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 และโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร ออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. 2566

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ 22 มิถุนายน 2566)

ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. 2551

ข้อ 4 ให้งาน ประเภท และขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565

ข้อ 5 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด

ข้อ 6 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด ยกเว้นงานให้คำปรึกษา ทำได้เฉพาะการให้คำแนะนำ แต่ไม่สามารถให้การวินิจฉัย หรือการตรวจรับรองงาน

ข้อ 7 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้เฉพาะงาน ประเภท และขนาด ดังนี้

(1) งานออกแบบและคำนวณ

(ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 4 ชั้น หรือโครงสร้างของอาคารแต่ละชั้นมีความสูงไม่เกิน 5 เมตร หรืออาคารที่มีช่วงคานยาวทุกขนาด ทั้งนี้ อาคารหรือโครงสร้างของอาคารหรือองค์อาคารต้องไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสาธารณะ

(ข) คลังสินค้า ไซโล ห้องเย็น ยุ้งฉาง หรือศูนย์กระจายสินค้าที่มีความจุไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตร

(ค) เขื่อน ฝาย หรืออาคารชลประทานประเภทบังคับน้ำ ที่มีความสูงไม่เกิน 2.50 เมตร

(ง) ท่อระบายน้ำ หรือช่องระบายน้ำ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางภายในไม่เกิน 1.50 เมตร หรือที่มีพื้นที่หน้าตัดไม่เกิน 2 ตารางเมตร

(จ) ระบบชลประทานหรือระบบระบายน้ำ ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 5,000 ไร่ต่อโครงการ

(ฉ) โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นหอ ปล่อง หรือศาสนวัตถุ เช่น หอถังน้ำ หอกระเช้าไฟฟ้า อนุสาวรีย์ พระพุทธรูป หรือเจดีย์ ที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร

(ช) โครงสร้างใต้ดิน อุโมงค์ สิ่งก่อสร้างชั่วคราวที่อยู่ใต้ดิน โครงสร้างกันดินคันดินป้องกันน้ำ หรือคลองส่งน้ำ ที่มีความสูงหรือความลึกไม่เกิน 2.50 เมตร

(ซ) โครงสร้างเก็บกักของไหล เช่น ถังเก็บน้ำ ถังเก็บน้ำมันหรือสระว่ายน้ำ ที่มีความจุไม่เกิน 500 ลูกบาศก์เมตร

(ฌ) นั่งร้านหรือค้ำยันชั่วคราว ที่มีความสูงไม่เกิน 25 เมตร

(ญ) แบบหล่อคอนกรีตและโครงสร้างรองรับแบบหล่อคอนกรีตสำหรับเสา ผนัง หรือกำแพง ที่มีความสูงไม่เกิน 5 เมตร

(ฎ) กรณีตาม (ก) (ข) (ค) (จ) (ฉ) (ช) (ซ) และ (ฌ) ที่เข้าข่ายต้องออกแบบและคำนวณตามกฎกระทรวงว่าด้วยการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดิน ที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ต้องผ่านการเรียนการสอนหรือการอบรมว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

(2) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต

(ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น

(ข) อาคารสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น

(ค) อาคารต้านแรงไหวสะเทือนจากแผ่นดินไหวตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น

(ง) อาคารที่มีพื้นที่รวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร ซึ่งอยู่บนพื้นที่เชิงลาดที่มีความลาดไม่เกิน 35 องศา

(จ) คลังสินค้า ยุ้งฉาง หรือศูนย์กระจายสินค้า ทุกขนาด

(ฉ) ไซโลหรือห้องเย็นที่มีพื้นที่ทุกขนาด

(ช) อัฒจันทร์ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 1,500 ตารางเมตร หรือสูงไม่เกิน 12 เมตร จากระดับฐานหรือพื้นดิน

(ซ) ท่าเทียบเรือ หรืออู่เรือสำหรับเรือที่มีระวางขับน้ำไม่เกิน 50 เมตริกตัน

(ฌ) เขื่อน ฝาย หรืออาคารชลประทานประเภทบังคับน้ำ ทุกขนาด

(ญ) อุโมงค์ส่งน้ำ ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ หรือช่องระบายน้ำ ทุกขนาด

(ฎ) ระบบชลประทานหรือระบบระบายน้ำ ทุกขนาด

(ฏ) ทางสาธารณะทุกขนาด

(ฐ) โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นหอ ปล่อง ที่มีความสูงไม่เกิน 40 เมตร หรือศาสนวัตถุ เช่น พระพุทธรูป หรือเจดีย์ ที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร

(ฑ) โครงสร้างสำหรับใช้ในการรับส่งหรือติดตั้งอุปกรณ์รับส่งระบบโทรคมนาคม หรือเสาไฟฟ้า ที่มีความสูงจากระดับฐานของโครงสร้างไม่เกิน 50 เมตร

(ฒ) โครงสร้างสะพานทุกประเภทที่มีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสาหรือตอม่อช่วงใดช่วงหนึ่งยาวไม่เกิน 12 เมตร

(ณ) โครงสร้างใต้ดิน อุโมงค์ สิ่งก่อสร้างชั่วคราวที่อยู่ใต้ดิน โครงสร้างกันดิน คันดินป้องกันน้ำ คลองส่งน้ำ หรือคลองระบายน้ำ ที่มีความสูงหรือความลึกไม่เกิน 2.50 เมตร

(ด) โครงสร้างเก็บกักของไหล เช่น ถังเก็บน้ำ ถังเก็บน้ำมัน หรือสระว่ายน้ำ ทุกขนาด

(ต) โครงสร้างที่เป็นคาน เสา แผ่นพื้น กำแพง ผนัง หรือบันได ที่ใช้รับน้ำหนักประกอบด้วยคอนกรีตหล่อสำเร็จหรือคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จ ทุกขนาด

(ถ) โครงสร้างรองรับท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 0.30 เมตร หรือพื้นที่หน้าตัดของทุกท่อรวมกันไม่เกิน 0.10 ตารางเมตร

(ท) โครงสร้างรองรับหรือติดตั้งเครื่องเล่นที่เคลื่อนที่ได้โดยมีความเร็วไม่เกิน 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือมีความสูงจากระดับพื้นที่ตั้งของเครื่องเล่นถึงระดับพื้นที่สูงสุดที่ผู้เล่นขึ้นไปเล่น ไม่เกิน 2.50 เมตร หรือมีส่วนที่ต้องใช้น้ำมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 0.80 เมตร

(ธ) โครงสร้างของปั้นจั่นหอสูงหรือเดอริกเครนสูงไม่เกิน 23 เมตร จากระดับฐานที่ตั้ง

(น) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย มีความสูงจากพื้นดินไม่เกิน 23 เมตร หรือป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางเมตร ที่ติดอยู่บนหลังคา ดาดฟ้า หรือกันสาด หรือที่ติดกับส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคาร

(บ) งานผลิตเสาเข็มคอนกรีต ทุกขนาด

(ป) นั่งร้านหรือค้ำยันชั่วคราวที่มีความสูงไม่เกิน 42 เมตร

(ผ) แบบหล่อคอนกรีตและโครงสร้างรองรับแบบหล่อคอนกรีตสำหรับเสา ผนังหรือกำแพง มีความสูงไม่เกิน 5 เมตร สำหรับคานหรือแผ่นพื้นมีช่วงยาวไม่เกิน 8 เมตร

(3) งานพิจารณาตรวจสอบ หรืองานอำนวยการใช้ ทุกประเภทและทุกขนาด

ข้อ 8 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้ตามงาน ประเภทและขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

ข้อ 9 ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ วิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา ตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสภาวิศวกร เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาวิศวกรให้เป็นที่สุด

ข้อ10 ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามระดับ และสาขาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขตามกฎกระทรวงกำหนด สาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้นั้นประกอบการงานนั้นต่อไปได้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ

 

ประกาศ ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566
รองศาสตราจารย์ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์
นายกสภาวิศวกร

 

เล่ม 140 ตอนพิเศษ 146 ง ราชกิจจานุเบกษา 21 มิถุนายน 2566

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.

   

                                  ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1                                      



  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th