ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




ประกาศสภาวิศวกร ที่ ๓๕/๒๕๕๓ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสัมภาษณ์ และการสอบแก้ตัว ของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับสามัญวิศวกร
วันที่ 20/07/2016   14:18:09

 ประกาศสภาวิศวกร

ที่ ๓๕/๒๕๕๓

เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสัมภาษณ์ และการสอบแก้ตัว

ของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับสามัญวิศวกร

-------------------------

          โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสัมภาษณ์ และการสอบแก้ตัวของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับสามัญวิศวกร

          อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๕ วรรคท้าย ของระเบียบคณะกรรมการสภาวิศวกร ว่าด้วยการทดสอบความรู้ความชำนาญระดับสามัญวิศวกรและระดับวุฒิวิศวกร (ฉบับ ที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการสภาวิศวกร ครั้งที่ ๑๘-๑๐/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ สภาวิศวกรจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

          ข้อ ๑ ในประกาศนี้

           คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการที่สภาวิศวกรแต่งตั้งตามข้อ ๔ (๒) ของข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมระดับสามัญวิศวกรและระดับวุฒิวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๗

           ผู้ขอรับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมระดับสามัญวิศวกร

 

หมวด ๑

หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสัมภาษณ์

-------------------------

          ข้อ ๒ หลักเกณฑ์การพิจารณาคะแนนการสอบสัมภาษณ์ จำนวน ๑๐๐ คะแนน ประกอบด้วยดังนี้

           (๑) ข้อมูลส่วนตัว จำนวน ๑๐ คะแนน ได้แก่ บุคลิกภาพ วุฒิภาวะ และภาวะการเป็นผู้นำ

           (๒) ความรู้ความชำนาญในสาขาอาชีพ จำนวน ๔๐ คะแนน ได้แก่ ทักษะในการทำงาน ความสามารถในการพัฒนางาน และความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาของงานที่ขอเลื่อนระดับ

           (๓) การประกอบวิชาชีพ จำนวน ๕๐ คะแนน ได้แก่ วิสัยทัศน์ มาตรฐานในการทำงาน ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้บุคคลอื่น ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการให้คำแนะนำหรือควบคุมให้การประกอบวิชาชีพเป็นไปอย่างปลอดภัย และความรอบรู้ในเรื่องของจรรยาบรรณและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          แบบประเมินการให้คะแนนการสอบสัมภาษณ์ ให้เป็นไปตามแบบแนบท้ายประกาศนี้

          ข้อ ๓ ในวันสอบสัมภาษณ์ผู้เข้ารับการทดสอบความรู้ต้องแต่งกายสุภาพ และต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ อย่างหนึ่งอย่างใดมาเพื่อแสดงตน

          ผู้ขอรับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบสัมภาษณ์และถูกปรับตกในการสอบสัมภาษณ์ ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์เป็นกรณีๆ ไป และเมื่อดำเนินการแล้ว ให้บันทึกรายงานคณะกรรมการสภาวิศวกรเพื่อทราบด้วย

 

หมวด ๒

หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแก้ตัว

-------------------------

          ข้อ ๔ หลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิในการสอบแก้ตัวของผู้ขอรับใบอนุญาต มีดังต่อไปนี้

           (๑) การเข้าฝึกอบรมเฉพาะด้าน สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตที่ได้คะแนนการสอบสัมภาษณ์ตั้งแต่ ๖๐ คะแนน ขึ้นไป

           (๒) การจัดทำรายงานทางวิชาการ สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตที่ได้คะแนนการสอบสัมภาษณ์น้อยกว่า ๖๐ คะแนน แต่ไม่ต่ำกว่า ๕๐ คะแนน

           (๓) การสอบข้อเขียนวัดผลความรู้ สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตที่ได้คะแนนการสอบสัมภาษณ์น้อยกว่า ๕๐ คะแนน

          ผู้ขอรับใบอนุญาตซึ่งมีสิทธิสอบแก้ตัวตามวิธีการใดที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง อาจขอเลือกใช้สิทธิต่ำกว่าที่กำหนดไว้ได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของคณะอนุกรรมการที่จะขออนุญาตตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ของผู้ขอรับใบอนุญาต

          ข้อ ๕ การเข้าฝึกอบรมเฉพาะด้าน มีหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้

           (๑) หลักสูตรการฝึกอบรมต้องมีวัตถุประสงค์และเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความรู้ในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของผู้ขอรับใบอนุญาต

           (๒) หน่วยงานที่จัดการฝึกอบรมต้องเป็นองค์กรแม่ข่ายหรือองค์กรลูกข่ายที่ได้รับการรับรองจากสภาวิศวกร

           (๓) มีหนังสือรับรองการได้รับหน่วยความรู้ (PDU) รวมกันไม่น้อยกว่า ๑๘ หน่วย

           (๔) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่คณะอนุกรรมการกำหนดไว้

          ผู้ขอรับใบอนุญาตซึ่งได้ดำเนินการครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องและเอกสาร หลักฐานประกอบ เพื่อขอนำเสนอความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม พร้อมตอบคำถามของคณะอนุกรรมการ ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยแต่เพียงว่า การสอบแก้ตัวของผู้ขอรับใบอนุญาตผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น

          ข้อ ๖ การจัดทำรายงานทางวิชาการ มีหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้

           (๑) รายงานทางวิชาการ ต้องมีวัตถุประสงค์และเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความรู้ในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นรายกรณีไป

           (๒) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่คณะอนุกรรมการกำหนดไว้

          ผู้ขอรับใบอนุญาตซึ่งได้ดำเนินการครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องและจัดส่งรายงานทางวิชาการพร้อมด้วยสำเนาตามจำนวนคณะอนุกรรมการ เพื่อขอนำเสนอรายงานทางวิชาการ พร้อมตอบคำถามของคณะอนุกรรมการ ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยแต่เพียงว่า การสอบแก้ตัวของผู้ขอรับใบอนุญาตผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น

          ข้อ ๗ การสอบข้อเขียนวัดผลความรู้ มีหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้

           (๑) รายวิชาที่ใช้ในการสอบข้อเขียนวัดผลความรู้ของแต่ละสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม มีดังนี้

               ก. สาขาวิศวกรรมโยธา

                   ก.๑ วิศวกรรมปฐพี (Geotechnical Engineering)

                   ก.๒ วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)

                   ก.๓ วิศวกรรมระบบขนส่ง (Transportation Engineering)

                   ก.๔ วิศวกรรมแหล่งน้ำ (Water Resources Engineering)

                   ก.๕ การบริหารงานก่อสร้าง (Construction Engineering)

                   ก.๖ วิศวกรรมการสำรวจ (Survey Engineering)

               ข. สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่

                   ข.๑ Mining Method / Physical Metallurgy

                   ข.๒ Mineral Dressing / Chemical Metallurgy

                   ข.๓ Explosive and Blasting / Mechanical Metallurgy

               ค. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล

                   ค.๑ Air conditioning and Refrigeration

                   ค.๒ Power Plant and Gas Turbine

                   ค.๓ Machine Design

                   ค.๔ Automotive and ICE

                   ค.๕ Pump, Fan and Compressor

                   ค.๖ Boiler, Pressure Vessel and Piping

               ง. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (ไฟฟ้ากำลัง)

                   ง.๑ มาตรฐานการติดตั้ง/การออกแบบระบบไฟฟ้า

                   ง.๒ กลุ่มวิชามาตรฐานประกอบด้วย มาตรฐานการป้องกันฟ้าผ่าสำหรับสิ่งปลูกสร้าง มาตรฐานการป้องกันแม่เหล็กไฟฟ้าของฟ้าผ่า มาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และมาตรฐานไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและป้ายทางออกฉุกเฉิน

                   ง.๓ Transmission and Distribution System

                   ง.๔ Substation Equipment / and Protective Relaying

                   ง.๕ Power Plant

                   ง.๖ Illumination Engineering

               จ. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (ไฟฟ้าสื่อสาร)

                   จ.๑ หลักการสื่อสาร

                   จ.๒ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

                   จ.๓ Communication Electronics

               ฉ. สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ

                   ฉ.๑ Industrial Work Study / Chemical Engineering Kinetics and Reactor Design

                   ฉ.๒ Operation Research / Chemical Engineering Principles and Calculations

                   ฉ.๓ Production Planning and Control / Process Dynamics and Control

                   ฉ.๔ Quality Control / Unit Operations

                   ฉ.๕ Industrial Plant Design / Chemical Engineering Plant Design

                   ฉ.๖ Safety Engineering / Safety in Chemical Operations

                   ฉ.๗ Maintenance Engineering

                   ฉ.๘ Engineering Economy

               ช. สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

                   ช.๑ Air Pollution Control, Design of Air Pollution Control System

                   ช.๒ Noise and Vibration Control

                   ช.๓ Solid  Waste Engineering

                   ช.๔ Hazardous Waste Management

                   ช.๕ Environmental System and Management

                   ช.๖ Environmental Health Engineering, Industrial Safety Management, Environmental Law

               ซ. สาขาวิศวกรรมเคมี

                   ซ.๑ Chemical Engineering Kinetics and Reactor Design

                   ซ.๒ Chemical Engineering Principles and Calculations

                   ซ.๓ Process Dynamics and Control

                   ซ.๔ Unit Operations

                   ซ.๕ Chemical Engineering Plant Design

                   ซ.๖ Safety in Chemical Operations

                   ซ.๗ Engineering Economy

           (๒) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องได้คะแนนในแต่ละรายวิชาที่สอบไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ จึงจะถือว่าสอบแก้ตัวผ่าน

           (๓) อนุญาตให้นำเอกสารอ้างอิง ตำราเข้าห้องสอบได้ (Open Book) พร้อมเครื่องคำนวณธรรมดาที่มีฟังก์ชันเสริมทางเรขาคณิตเท่านั้น สำหรับเครื่องคำนวณที่สามารถบรรจุโปรแกรมตัวอักษรไม่อนุญาตให้นำเข้าห้องสอบ

           (๔) ให้คณะอนุกรรมการหรือบุคคลที่คณะกรรมการสภาวิศวกรแต่งตั้งมีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการสอบข้อเขียนวัดผลความรู้ตามประกาศนี้

           (๕) ในวันสอบข้อเขียนวัดผลความรู้ ผู้เข้าสอบต้องแต่งกายสุภาพ และต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ อย่างหนึ่งอย่างใดมาเพื่อแสดงตน

          ผู้ขอรับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบและถูกปรับตกในการสอบข้อเขียนวัดผลความรู้ ทั้งนี้ ให้ผู้ควบคุมการสอบพิจารณาตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์เป็นกรณีๆ ไป และเมื่อดำเนินการแล้ว ให้บันทึกรายงานคณะกรรมการสภาวิศวกรเพื่อทราบด้วย

           (๖) ในการสอบข้อเขียนวัดผลความรู้ ผู้เข้าสอบต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

                ก. ห้ามเข้าห้องสอบก่อนเวลาเริ่มการทดสอบ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ และห้ามเข้าห้องสอบเมื่อเริ่มการทดสอบไปแล้วสามสิบนาที เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ

                ข. ห้ามออกจากห้องสอบ เว้นแต่ได้เริ่มการสอบไปแล้วหนึ่งชั่วโมง

                ค. ห้ามลุกจากที่นั่งสอบโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ

                ง. ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดขณะอยู่ในห้องสอบ

                จ. เขียนคำตอบด้วยปากกาหมึกแห้งสีน้ำเงินหรือสีดำ ในกรณีข้อสอบอัตนัย หรือดินสอดำ ๒B หรือเข้มกว่า ในกรณีข้อสอบปรนัย

                ฉ. เขียนชื่อ นามสกุล และหมายเลขประจำตัวสอบลงในกระดาษคำตอบเฉพาะในบริเวณที่กำหนดเท่านั้น

                ช. ไม่กระทำการอันเป็นการรบกวนหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นตลอดระยะเวลาที่อยู่ในบริเวณสถานที่สอบ

                ซ. ห้ามดูหรือลอกคำตอบของผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นดูหรือลอกคำตอบของตน

                ฌ. ห้ามคัดลอกข้อสอบไม่ว่าจะทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

                ญ. การส่งกระดาษคำตอบ ให้ยกมือขึ้นเพื่อให้ผู้ควบคุมการสอบเป็นผู้มาเก็บกระดาษคำตอบ

                ฎ. ห้ามนำชุดข้อสอบหรือกระดาษคำตอบไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกนอกห้องสอบ

                ฏ. ปฏิบัติตามคำสั่งและข้อความที่ระบุไว้ในข้อสอบหรือตามที่ได้รับแจ้งจากผู้ควบคุมการสอบ

            (๗) ในกรณีผู้เข้าสอบฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามข้อ ๗ (๖) ให้ผู้ควบคุมการสอบมีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

                ก. ว่ากล่าวตักเตือน

                ข. ไม่อนุญาตให้เข้าห้องสอบ

                ค. ให้ออกจากห้องสอบ

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ควบคุมการสอบพิจารณาตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์เป็นกรณีๆ ไป ในกรณีตาม ข. และ ค. เมื่อดำเนินการแล้ว ให้บันทึกรายงานต่อคณะกรรมการสภาวิศวกรเพื่อทราบด้วย

            (๘) ในกรณีผู้เข้ารับการทดสอบฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามข้อ ๗ (๖) ช. ซ. ฌ. หรือ ฎ. ให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

                ก. หักคะแนนวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือทุกวิชา

                ข. ปรับตกวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือทุกวิชา

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์เป็นกรณีๆ ไป และเมื่อดำเนินการแล้ว ให้บันทึกรายงานคณะกรรมการสภาวิศวกรเพื่อทราบด้วย

            (๙) กระดาษคำตอบใดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นกระดาษคำตอบของผู้ใด คณะกรรมการสภาวิศวกรจะไม่รับไว้พิจารณา

            (๑๐) ผู้เข้ารับการทดสอบความรู้ที่สอบไม่ผ่านวิชาใด จะขอดูกระดาษคำตอบได้เฉพาะของตน โดยยื่นคำขอต่อหัวหน้าสำนักงานสภาวิศวกร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการสอบ

            (๑๑) ให้สำนักงานสภาวิศวกรดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดูกระดาษคำตอบ ดังต่อไปนี้

                ก. รับคำขอและลงทะเบียนคำขอ

                ข. แจ้งวัน เวลา และสถานที่ดูกระดาษคำตอบให้ผู้ยื่นคำขอทราบ

                ค. สำเนากระดาษคำตอบที่ผู้ยื่นขอประสงค์จะดู และให้ผู้ยื่นคำขอดูจากสำเนาแทนต้นฉบับ ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการคัดลอกข้อความในสำเนากระดาษคำตอบ

                ง. ให้ผู้ยื่นคำขอใช้เวลาดูสำเนากระดาษคำตอบไม่เกินสามสิบนาที

            (๑๒) เมื่อดูกระดาษคำตอบเสร็จแล้ว หากผู้ยื่นคำขอประสงค์จะให้ทบทวนการตรวจข้อสอบให้ยื่นคำขอต่อเลขาธิการสภาวิศวกร โดยระบุเป็นรายข้อพร้อมด้วยเหตุผลให้ชัดเจน ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ดูกระดาษคำตอบ

           ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

(นายทวี บุตรสุนทร)

นายกสภาวิศวกร

 

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.

   

                                  ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1                                      



  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th