ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕ article
วันที่ 13/01/2013   18:35:07

ดาวน์โหลด กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕

 

 กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕

กฎกระทรวง

กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัย

ของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ

พ.ศ. ๒๕๕๕

-----------------------

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๓) และมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๑๒) (๑๓) และ (๑๕) และมาตรา ๓๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ และมาตรา ๓๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้

สถานบริการหมายความว่า อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้ประกอบกิจการเป็นสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

พื้นที่สถานบริการ หมายความว่า พื้นที่ของอาคารที่อยู่ภายในขอบเขตของผนังภายนอกสถานบริการ โดยให้รวมถึงพื้นที่ของช่องทางเดิน ช่องบันได ตู้ หรือความหนาของฝา เสา หรือส่วนประกอบอื่นของอาคารที่คล้ายคลึงกัน เฉลียงหรือระเบียงที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของสถานบริการและพื้นที่ของอาคารหรือส่วนของพื้นที่ที่ไม่มีผนังภายนอกที่อยู่ใต้หลังคาคลุมหรืออยู่ใต้พื้นชั้นถัดไป แต่ไม่รวมถึงพื้นที่ของช่องท่อ ช่องลิฟต์ และที่จอดรถ

พื้นที่บริการ หมายความว่า พื้นที่ที่จัดไว้สำหรับให้บริการตามวัตถุประสงค์ของกิจการสถานบริการนั้น ๆ แต่ไม่รวมถึงพื้นที่ประกอบการให้บริการ เช่น พื้นที่จอดรถ ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องเครื่องระบบต่าง ๆ ช่องทางเดิน ช่องท่อ ช่องบันได ช่องลิฟต์ พื้นที่จัดเตรียมเครื่องดื่ม

ผนังทนไฟ หมายความว่า ผนังที่ทำด้วยวัสดุทนไฟที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไฟได้ดีและมีอัตราการทนไฟเป็นไปตามที่กำหนด

ความจุคน หมายความว่า จำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดที่สามารถใช้พื้นที่บริการของสถานบริการ

เส้นทางหนีไฟ หมายความว่า ทางออกและแนวทางออกเพื่อให้คนออกจากอาคารเมื่อเกิดอัคคีภัย โดยจะต้องเป็นเส้นทางซึ่งต่อเนื่องกันเพื่อออกจากภายในอาคารไปสู่บันไดหนีไฟ หรือที่เปิดโล่งภายนอกอาคารที่ระดับพื้นดินหรือออกสู่ทางสาธารณะ

ทางหนีไฟ หมายความว่า ส่วนหนึ่งของเส้นทางหนีไฟที่ถูกแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของอาคารเพื่อความปลอดภัยตลอดทางจนถึงทางปล่อยออก โดยทางหนีไฟจะต้องมีส่วนปิดล้อมที่ไม่มีช่องให้ไฟหรือควันจากภายนอกผ่านเข้ามาได้ และส่วนปิดล้อมนี้ต้องมีอัตราการทนไฟเป็นไปตามที่กำหนด

ช่องทางเดิน หมายความว่า ช่องว่างที่ใช้เป็นทางเดินที่มีผนังทั้งสองข้างและเป็นเส้นทางไปสู่ทางหนีไฟซึ่งไม่ใช้เป็นพื้นที่เพื่อการอื่น

สถาบันทดสอบ หมายความว่า สถาบันที่มีห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุและอุปกรณ์ประกอบอาคารเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอัคคีภัยที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ขึ้นทะเบียนไว้และได้รับรองผลการทดสอบจากผู้มีอำนาจในสถาบันนั้น

หมวด ๑

บททั่วไป

-----------------------

ข้อ ๓ ให้อาคารสำหรับใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา ๓๒ (๒)

ข้อ ๔ สถานบริการแบ่งออกตามขนาดพื้นที่บริการเป็น ๖ ประเภท ดังต่อไปนี้

(๑) สถานบริการประเภท ก หมายความถึง สถานบริการที่เป็นอาคารเดี่ยวหรือที่ตั้งอยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน ซึ่งมีการจัดพื้นที่บริการน้อยกว่า ๒๐๐ ตารางเมตร

(๒) สถานบริการประเภท ข หมายความถึง สถานบริการที่เป็นอาคารเดี่ยว ซึ่งมีการจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ ๒๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๕๐๐ ตารางเมตร

(๓) สถานบริการประเภท ค หมายความถึง สถานบริการที่เป็นอาคารเดี่ยว ซึ่งมีการจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ ๕๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป

(๔) สถานบริการประเภท ง หมายความถึง สถานบริการที่ตั้งอยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน ซึ่งมีการจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ ๒๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๕๐๐ ตารางเมตร

(๕) สถานบริการประเภท จ หมายความถึง สถานบริการที่ตั้งอยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน ซึ่งมีการจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ ๕๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป

(๖) สถานบริการประเภท ฉ หมายความถึง สถานบริการที่เป็นอาคารชั้นเดียวและไม่มีผนังภายนอกหรือมีผนังภายนอกซึ่งมีความยาวรวมกันน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวเส้นรอบรูปภายนอกของพื้นที่อาคารที่อยู่ภายใต้หลังคาคลุม ซึ่งมีการจัดพื้นที่บริการตั้งแต่ ๒๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป

ข้อ ๕ สถานที่ตั้งสถานบริการต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) สถานบริการประเภท ข และประเภท ค ต้องตั้งอยู่ในที่ดินที่มีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า ๑๒.๐๐ เมตร และที่ดินด้านนั้นต้องอยู่ติดถนนสาธารณะที่มีผิวการจราจรกว้างไม่น้อยกว่า ๗.๐๐ เมตร

(๒) สถานบริการประเภท ง และประเภท จ ต้องตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีบันไดหนีไฟหรือทางหนีไฟจากสถานบริการเพื่อออกสู่ภายนอกอาคารได้อย่างน้อยสองทาง และบันไดหนีไฟหรือทางหนีไฟต้องมีขีดความสามารถในการระบายคนที่ออกจากสถานบริการไปสู่ภายนอกอาคารได้ในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง

ข้อ ๖ แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณประกอบการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารสถานบริการต้องเป็นสิ่งพิมพ์ สำเนาภาพถ่าย หรือเขียนด้วยหมึก และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) มาตราส่วน ขนาด ระยะ น้ำหนัก และหน่วยการคำนวณต่าง ๆ ให้ใช้ระบบเมตริก

(๒) แผนผังบริเวณให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า ๑ ใน ๕๐๐ แสดงลักษณะที่ตั้งและขอบเขตของสถานที่เพื่อประกอบกิจการสถานบริการ พร้อมด้วยรายละเอียด ดังต่อไปนี้

(ก) แสดงขอบนอกของสถานบริการและอาคารที่สถานบริการนั้นตั้งอยู่

(ข) ทางเดินจากสถานบริการไปยังทางหนีไฟ หรือบันไดหนีไฟ

(ค) ลักษณะและขอบเขตของสถานที่เพื่อประกอบกิจการสถานบริการและบริเวณที่ติดต่อกันด้วยโดยสังเขปพร้อมด้วยเครื่องหมายทิศ

(ง) แสดงระดับของพื้นสถานบริการและความสัมพันธ์กับระดับทางหรือถนนสาธารณะที่ใกล้ที่สุดและระดับพื้นดิน

(จ) แบบแปลนอาคารที่แสดงทางหนีไฟจากสถานบริการออกสู่ภายนอกอาคาร

(ฉ) แสดงตำแหน่งป้ายแสดงทางออก ป้ายทางหนีไฟ ไฟฉุกเฉิน จุดแจ้งเหตุด้วยมือและถังดับเพลิง

(๓) แบบแปลนให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า ๑ ใน ๑๐๐ โดยต้องแสดงรูปต่าง ๆ คือแปลนพื้นรูปด้านทุกด้าน รูปตัดทางขวาง รูปตัดทางยาว พร้อมด้วยแบบแปลนแสดงส่วนต่าง ๆ ของสถานที่เพื่อประกอบกิจการสถานบริการให้ชัดเจน รายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของอาคารชั้นที่ใช้เป็นสถานที่เพื่อประกอบกิจการสถานบริการ รวมถึงแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนของระบบดับเพลิงอัตโนมัติภายในสถานบริการ (ถ้ามี) ระบบท่อน้ำดับเพลิงที่แสดงแผนผังการเดินท่อเป็นระบบจากแหล่งจ่ายน้ำหรือหัวรับน้ำดับเพลิงไปสู่หัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงและที่เก็บน้ำสำรองไว้ด้วย (ถ้ามี)

สำหรับอาคารที่มีรูปตัดทางขวางหรือรูปตัดทางยาวของอาคารที่มีความกว้าง ความยาวหรือความสูงเกิน ๙๐ เมตร แบบแปลนให้ใช้มาตราส่วนเล็กกว่า ๑ ใน ๑๐๐ ก็ได้ แต่ต้องไม่เล็กกว่า๑ ใน ๒๕๐

(๔) รายการประกอบแบบแปลน ให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะ ชนิดและอัตราการทนไฟของวัสดุ ที่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้

ข้อ ๗ แบบแปลนระบบไฟฟ้าประกอบการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารสถานบริการให้ประกอบด้วย

(๑) แผนผังวงจรไฟฟ้าของสถานบริการที่มีมาตราส่วนเช่นเดียวกับที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา ๘ (๑๒) ซึ่งแสดงถึง

(ก) รายละเอียดการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดในแต่ละวงจรย่อยของระบบไฟฟ้า แสงสว่าง และกำลัง

(ข) รายละเอียดการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดของระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้

(ค) รายละเอียดการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดของระบบไฟฟ้าฉุกเฉิน

(๒) แผนผังวงจรไฟฟ้าแสดงรายละเอียดของระบบสายดิน สายประธานต่าง ๆ รวมทั้งรายละเอียดของระบบป้องกันสายประธานดังกล่าวและอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดของทุกระบบ

(๓) รายการประกอบแบบแสดงรายละเอียดของการใช้ไฟฟ้า

(๔) แผนผังวงจรและการติดตั้งแผงควบคุมหรือแผงจ่ายไฟฟ้าและระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรอง

ข้อ ๘ สถานบริการต้องจัดให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผังของอาคารซึ่งแสดงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงต่าง ๆ ทางหนีไฟ ทางออก และประตูทางออก โดยแบบแปลนแผนผังดังกล่าวให้ติดไว้ในตำแหน่งที่ชัดเจนอย่างน้อยบริเวณโถงบันไดหรือโถงลิฟต์ทุกแห่งทุกชั้น และบริเวณทางเข้าออกหลักของสถานบริการ

ข้อ ๙ สถานบริการประเภท ก อย่างน้อยให้ดำเนินการติดตั้งวัสดุ ระบบ และอุปกรณ์ประกอบอาคารต่าง ๆ ที่เป็นไปตามข้อ ๑๔ ข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ ข้อ ๒๒ ข้อ ๒๕ ข้อ ๒๖ ข้อ ๒๘ ข้อ ๓๐ ข้อ ๓๗ และข้อ ๓๙

ข้อ ๑๐ สถานบริการประเภท ฉ อย่างน้อยให้ดำเนินการติดตั้งวัสดุ ระบบ และอุปกรณ์ประกอบอาคารต่าง ๆ ที่เป็นไปตามข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ ข้อ ๒๒ ข้อ ๒๕ และข้อ ๒๖

หมวด ๒

วัสดุของอาคาร

-----------------------

ข้อ ๑๑ โครงสร้างหลักและโครงหลังคาของสถานบริการให้ก่อสร้างด้วยวัสดุที่มีลักษณะและคุณสมบัติ หรือมีอัตราการทนไฟตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒

ข้อ ๑๒ ผนังที่กั้นระหว่างสถานบริการและกิจการการใช้อาคารประเภทอื่นต้องเป็นผนังทนไฟที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง

ห้องครัวของสถานบริการที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจะต้องกั้นแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของอาคารด้วยผนังทนไฟที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง หรือแยกห่างออกไปจากอาคารไม่น้อยกว่า ๑๐.๐๐ เมตร

ในกรณีที่ติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติครอบคลุมพื้นที่สถานบริการทั้งหมดภายในอาคารอัตราการทนไฟของผนังในวรรคหนึ่งสามารถลดลงเหลือไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงได้

ข้อ ๑๓ ช่องเปิดที่ผนังทนไฟจะต้องป้องกันด้วยชุดประตูหรือชุดหน้าต่าง และอุปกรณ์หรือวัสดุอุดทนไฟที่ได้รับการรับรองและผ่านการทดสอบจากสถาบันทดสอบ โดยวิธีการทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยการทดสอบการทนไฟของชิ้นส่วนและส่วนประกอบของอาคารของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ข้อ ๑๔ วัสดุตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดานที่ใช้ภายในสถานบริการ จะต้องเป็นวัสดุที่ติดไฟหรือลุกไหม้ที่มีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า ๗๕๐ องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือเป็นวัสดุที่มีดรรชนีการลามไฟไม่เกิน ๗๕ และดรรชนีการกระจายควันไม่เกิน ๔๕๐ การใช้วัสดุตกแต่งอื่นที่นอกเหนือจากวรรคหนึ่ง ให้มีพื้นที่ในการติดตั้งได้ไม่เกินร้อยละสิบของพื้นที่ผิวผนังและพื้นที่ฝ้าเพดานนั้น หากใช้วัสดุที่ติดไฟง่าย หรือลามไฟเร็ว ซึ่งได้แก่วัสดุที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม พลาสติกประเภทโฟม เยื่อกระดาษ หรือเยื่อที่ผลิตจากเซลลูโลสวัสดุดังกล่าวจะต้องมีดรรชนีการลามไฟไม่เกิน ๗๕

ประเภทของวัสดุตกแต่งในวรรคหนึ่ง การทดสอบค่าคุณสมบัติการติดไฟหรือลุกไหม้ดรรชนีการลามไฟ และดรรชนีการกระจายควันในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยวัสดุและการทดสอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ข้อ ๑๕ วัสดุตกแต่งผิวพื้นที่ใช้ภายในสถานบริการจะต้องเป็นวัสดุที่ได้รับการรับรองจากสถาบันทดสอบหรือมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยคุณสมบัติการป้องกันอัคคีภัยของวัสดุตกแต่งผิวพื้นของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ข้อ ๑๖ การใช้ฉนวนกันความร้อนที่ใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม พลาสติก ประเภทโฟม เยื่อกระดาษ หรือเยื่อที่ผลิตจากเซลลูโลสเป็นวัสดุไส้กลาง จะต้องปิดผิวฉนวนกันความร้อนด้วยแผ่นยิปซั่มทนไฟที่มีความหนาไม่น้อยกว่า ๑๒ มิลลิเมตร หรือแผ่นคอนกรีตหนาไม่น้อยกว่า ๒๕ มิลลิเมตร หรือแผ่นกั้นความร้อน ที่ไม่ทำให้อุณหภูมิด้านไม่สัมผัสความร้อนสูงเกินกว่า ๑๒๐ องศาเซลเซียสเมื่อทดสอบตามมาตรฐานว่าด้วยการทดสอบการทนไฟของชิ้นส่วนโครงสร้างและส่วนประกอบอาคารของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ข้อ ๑๗ ผนังภายนอก ประตู หน้าต่าง และส่วนประกอบของผนังกั้นภายในอาคารบริเวณทางเดินของสถานบริการประเภท ค และ จ ที่ทำด้วยกระจกจะต้องใช้กระจกนิรภัยที่มีคุณสมบัติในการป้องกันหรือลดอันตรายจากการบาดของเศษกระจกเมื่อกระจกแตก ร้าวหรือราน ทั้งนี้ กระจกที่ใช้สำหรับผนังภายนอก ประตู และหน้าต่างดังกล่าวจะต้องไม่เป็นกระจกที่ติดฟิล์มหรือกระจกที่มีวัสดุคั่นกลางระหว่างชิ้นเพื่อยึดกระจกแต่ละชิ้นให้ติดแน่นเป็นแผ่นเดียวกัน

ในกรณีสถานบริการที่ตั้งอยู่ในอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีผนังทำด้วยกระจกและเป็นผนังภายนอกของอาคารให้เป็นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เว้นแต่ช่องทางสำหรับการช่วยเหลือให้ใช้กระจกนิรภัยที่มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง

หมวด ๓

ระบบไฟฟ้า

-----------------------

ข้อ ๑๘ สถานบริการต้องมีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าเพื่อการให้แสงสว่างหรือกำลังซึ่งต้องมีการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ในระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าต้องมีสวิตช์ประธานสำหรับสถานบริการโดยเฉพาะติดตั้งในสถานที่ที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ข้อ ๑๙ แผงสวิตช์วงจรย่อยทุกแผงของระบบไฟฟ้าต้องต่อลงดิน การต่อลงดินหลักสายดินและวิธีการต่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ข้อ ๒๐ สถานบริการหรืออาคารที่ตั้งสถานบริการต้องมีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับเครื่องหมายแสดงทางฉุกเฉิน ทางเดิน บันได บันไดหนีไฟ ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้และไฟส่องสว่างสำหรับทางเดิน ห้องโถง บันได บันไดหนีไฟ และแยกเป็นอิสระจากระบบไฟฟ้าปกติครอบคลุมพื้นที่สถานบริการถึงบันไดหนีไฟ และสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงเมื่อระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าปกติหยุดทำงาน เว้นแต่สถานบริการประเภท ฉ อย่างน้อยต้องจัดให้มีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับไฟส่องสว่างที่สามารถมองเห็นทางเดินได้ และระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่แยกเป็นอิสระจากระบบไฟฟ้าปกติครอบคลุมพื้นที่สถานบริการ และสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง เมื่อระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าปกติหยุดทำงาน

ข้อ ๒๑ สถานบริการหรืออาคารที่ตั้งสถานบริการกรณีที่มีการใช้เครื่องสูบน้ำดับเพลิงที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจะต้องใช้กำลังไฟฟ้าโดยตรงจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองชนิดอื่น ขนาดของสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าจะต้องได้มาตรฐาน โดยที่อุปกรณ์สวิตช์ตัดตอนต่าง ๆ จะต้องมีค่ากระแสลัดวงจรที่เหมาะสม ขนาดของมอเตอร์ที่นำมาใช้เป็นชนิดที่ไม่เกินกำลัง สายไฟฟ้าสำหรับระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าต้องเป็นชนิดทนไฟหรือได้รับการป้องกันจากเพลิงไหม้

ข้อ ๒๒ การเดินสายระบบไฟฟ้า ระบบเสียง และระบบสัญญาณต่าง ๆ ให้เดินในรางหรือท่อร้อยสายไฟซึ่งทำด้วยโลหะ

หมวด ๔

ระบบป้องกันเพลิงไหม้

-----------------------

ข้อ ๒๓ สถานบริการประเภท ค ซึ่งมีความสูงตั้งแต่สามชั้นหรือตั้งแต่ ๑๕.๐๐ เมตรขึ้นไป และสถานบริการประเภท จ ที่ตั้งอยู่ในอาคารซึ่งมีความสูงตั้งแต่ชั้นที่สามหรือตั้งแต่ ๑๕.๐๐ เมตรขึ้นไปต้องมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ซึ่งประกอบด้วยระบบท่อยืน ตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิง ที่เก็บน้ำสำรองและหัวรับน้ำดับเพลิง ดังต่อไปนี้

(๑) ท่อส่งน้ำและอุปกรณ์ประกอบท่อส่งน้ำที่ใช้สำหรับการดับเพลิงต้องเป็นโลหะผิวเรียบหรือวัสดุอื่นที่ระบุว่าเป็นท่อที่ผลิตเพื่อใช้สำหรับการดับเพลิงเท่านั้น โดยท่อดังกล่าวต้องทาสีน้ำมันสีแดงหรือสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นท่อดับเพลิงและจะต้องต่อเข้ากับท่อประธานส่งน้ำและระบบส่งน้ำจากแหล่งจ่ายน้ำของอาคารที่ตั้งสถานบริการและจากหัวรับน้ำดับเพลิงนอกอาคาร

(๒) อาคารทุกชั้นที่ประกอบกิจการเป็นสถานบริการต้องจัดให้มีตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิงที่ประกอบด้วยหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงพร้อมสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๒๕มิลลิเมตร หรือ ๑.๐๐ นิ้ว และหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงชนิดหัวต่อสวมเร็ว ที่เชื่อมต่อกับระบบของพนักงานดับเพลิงได้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๕ มิลลิเมตร หรือ ๒.๕๐ นิ้ว พร้อมทั้งฝาครอบและโซ่ร้อยติดไว้ซึ่งสามารถนำไปใช้ดับเพลิงครอบคลุมทุกพื้นที่สถานบริการ

(๓) ต้องมีที่เก็บน้ำสำรองเพื่อใช้เฉพาะในการดับเพลิงและต้องมีระบบส่งน้ำที่มีความดันซึ่งสามารถดับเพลิงได้ทุกพื้นที่สถานบริการ

(๔) ต้องมีหัวรับน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งภายนอกอาคารชนิดข้อต่อสวมเร็วที่สามารถรับน้ำจากรถดับเพลิงได้ ซึ่งอยู่ในสถานที่ที่พนักงานดับเพลิงเข้าถึงได้โดยสะดวกรวดเร็วที่สุดและใกล้หัวท่อดับเพลิงสาธารณะมากที่สุด โดยที่หัวรับน้ำดับเพลิงต้องมีฝาปิดเปิดที่มีโซ่ร้อยติดไว้ด้วย และบริเวณใกล้หัวรับน้ำดับเพลิงนอกอาคารต้องมีข้อความเขียนด้วยสีสะท้อนแสงว่า หัวรับน้ำดับเพลิง

ในการออกแบบและติดตั้งระบบป้องกันเพลิงไหม้ในวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยระบบป้องกันเพลิงไหม้ของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ข้อ ๒๔ สถานบริการประเภท ค และประเภท จ ต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติเช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงหรือระบบอื่นที่เทียบเท่าที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองทันทีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ โดยให้สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่สถานบริการทั้งหมด ในการออกแบบและติดตั้งระบบดับเพลิงดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยระบบดับเพลิงอัตโนมัติของกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

สถานบริการประเภท ง ที่ตั้งอยู่ในอาคารขนาดใหญ่จะต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๒๕ สถานบริการต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ซึ่งประกอบด้วย

(๑) อุปกรณ์ส่งสัญญาณเพื่อให้หนีไฟที่สามารถส่งสัญญาณเสียงและแสงให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึง

(๒) อุปกรณ์ตรวจจับอัตโนมัติและอุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือเพื่อให้อุปกรณ์ตาม (๑) ทำงาน เว้นแต่สถานบริการประเภท ก และประเภท ฉ ที่อย่างน้อยต้องติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุที่ใช้มือ

ในการออกแบบและติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยในวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ในกรณีที่เป็นสถานบริการประเภท ง หรือประเภท จ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารขนาดใหญ่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ของสถานบริการจะต้องต่อเชื่อมเข้ากับระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ของอาคารดังกล่าวด้วย

ข้อ ๒๖ สถานบริการต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้วตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยให้มี ๑ เครื่องต่อพื้นที่สถานบริการไม่เกิน ๒๐๐ ตารางเมตรแต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ ๒ เครื่อง โดยการติดตั้งให้กระจายครอบคลุมทั้งพื้นที่สถานบริการ สำหรับประเภท ขนาด และสมรรถนะของเครื่องดับเพลิงดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้วของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

การติดตั้งเครื่องดับเพลิงต้องติดตั้งให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน๑.๕๐ เมตร โดยส่วนล่างสุดของทุกเครื่องต้องสูงไม่น้อยกว่า ๐.๑๐ เมตร ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนหรือใช้ป้ายเครื่องหมายแสดงที่ตั้งของเครื่องดับเพลิงที่มองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงสามารถอ่านคำแนะนำการใช้ได้ และสามารถเข้าใช้สอยได้โดยสะดวก

ข้อ ๒๗ สถานบริการประเภท ค และประเภท จ ที่พื้นที่บริการไม่มีช่องระบายอากาศสู่ภายนอกโดยตรง หรือไม่มีวิธีการระบายอากาศได้โดยธรรมชาติ ต้องมีการติดตั้งระบบควบคุมการแพร่กระจายของควัน เช่น พัดลมสำหรับดูดควันไฟออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ สายไฟฟ้าของระบบควบคุมการแพร่กระจายของควันจะต้องเป็นชนิดทนไฟได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง ในการออกแบบและติดตั้งระบบควบคุมดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยระบบการควบคุมควันไฟของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

หมวด ๕

ทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟ

-----------------------

ข้อ ๒๘ จำนวนทางออกและประตูทางออกในสถานบริการต้องสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในพื้นที่สถานบริการนั้น โดยสถานบริการจะต้องมีจำนวนทางออกและประตูทางออกไปสู่ทางหนีไฟหรือออกสู่ภายนอกอาคารตามที่กำหนดในตารางที่ ๑

ตารางที่ ๑ จำนวนทางออกและประตูทางออกของสถานบริการ

จำนวนคนสูงสุด

จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า

(๑) ไม่เกิน ๕๐ คน

(๒) ตั้งแต่ ๕๑ คน ถึง ๒๐๐ คน

(๓) ตั้งแต่ ๒๐๑ คน ถึง ๔๐๐ ค น

(๔) ตั้งแต่ ๔๐๑ คน ถึง ๗๐๐ คน

(๕) ตั้งแต่ ๗๐๑ คน ถึง ๑,๐๐๐ คน

(๖) ตั้งแต่ ๑,๐๐๑ คนขึ้นไป

๑ แห่ง

๒ แห่ง

๓ แห่ง

๔ แห่ง

๕ แห่ง

๖ แห่ง

ทั้งนี้ จำนวนทางออกและประตูทางออกในตารางที่ ๑ ให้นับรวมถึงทางออกหลักตามข้อ ๓๑ ด้วย

ในกรณีสถานบริการมีพื้นชั้นลอยหรือระเบียงที่ใช้เป็นพื้นที่บริการจะต้องมีจำนวนทางออกหรือประตูทางออกในชั้นลอยหรือระเบียงดังกล่าวตามที่กำหนดในตารางที่ ๑

การคำนวณจำนวนคนสำหรับการกำหนดจำนวนทางออกหรือประตูทางออกในตารางที่ ๑ ให้คำนวณแยกตามประเภทกิจการการใช้อาคารในตารางที่ ๒ แล้วนำมารวมกันเป็นจำนวนคนสูงสุด

ตารางที่ ๒ อัตราส่วนพื้นที่ต่อคนในแต่ละประเภทกิจการการใช้อาคาร

ประเภทกิจการการใช้อาคาร

อัตราส่วนพื้นที่ต่อคน

(ตารางเมตรต่อคน)

()  พื้นที่จัดคอนเสิร์ตแบบยืน พื้นที่รอเข้าใช้บริการ

()  พื้นที่ที่ใช้ในการเต้นรำ รำวง

(๓)  ไนต์คลับ บาร์

(๔)  ภัตตาคาร ห้องอาหาร ห้องจัดเลี้ยง หรือพื้นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

(๕)  เวทีและลานแสดง

(๖)  สำนักงาน

(๗)  ห้องครัว

(๘)  สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว

๐.๔๕

๐.๖๕

๑.๐

.

 

.

๑๐

๑๐

๒ คนต่อจำนวนห้อง

หรือเตียงที่ให้บริการ

การคำนวณจำนวนคนสำหรับการกำหนดจำนวนทางออกหรือประตูทางออกไม่นับรวมพื้นที่จอดรถ ห้องน้ำ บันได ช่องลิฟต์ และช่องทางเดินนอกอาคาร

ข้อ ๒๙ ในกรณีสถานบริการมีทางออกหรือประตูทางออกสองแห่ง ระยะห่างระหว่างทางออกหรือประตูทางออกต้องมีระยะไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเส้นทแยงมุมที่ยาวที่สุดของสถานบริการ

ในกรณีสถานบริการมีทางออกหรือประตูทางออกตั้งแต่สามแห่งขึ้นไป ระยะห่างระหว่างทางออกหรือประตูทางออกคู่ใดคู่หนึ่งต้องมีระยะไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเส้นทแยงมุมที่ยาวที่สุดของสถานบริการ

ในกรณีสถานบริการมีเวทีการแสดง จะต้องมีทางออกหรือประตูทางออกด้านหลังเวทีหรือข้างเวทีเพิ่มอีกอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ทั้งนี้ ไม่รวมกับจำนวนทางออกหรือประตูทางออกตามที่กำหนดในตารางที่ ๑

ข้อ ๓๐ ทางออกหรือประตูทางออกจากสถานบริการ ไปสู่ทางหนีไฟหรือออกสู่ภายนอกอาคารจะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) เหนือทางออกหรือประตูทางออกต้องมีป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรหรือสัญลักษณ์แสดงทางหนีไฟที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลาโดยรายละเอียดของตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยป้ายบอกทางหนีไฟของกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

(๒) ความกว้างสุทธิของช่องทางออกหรือช่องประตูทางออกต้องไม่น้อยกว่า ๐.๘๔ เมตร สูงสุทธิไม่น้อยกว่า ๑.๙๗ เมตร และขนาดความกว้างของทางออกและประตูทางออกทุกแห่งรวมกันจะต้องไม่น้อยกว่าผลคูณระหว่างจำนวนคนตามที่คำนวณจากตารางที่ ๒ และตัวคูณความกว้างต่ำสุดตามที่ระบุในตารางที่ ๖

(๓) ทางออกหรือประตูทางออกต้องไม่มีธรณีประตูหรือขอบกั้นที่สูงเกินกว่า ๑๓ มิลลิเมตรทั้งนี้ พื้นบริเวณหน้าทางออกจากสถานบริการหากจะมีระดับพื้นด้านนอกและด้านในอยู่ต่างระดับกันให้ระดับพื้นด้านนอกอยู่ต่ำกว่าพื้นด้านในได้ไม่เกิน ๒๕ มิลลิเมตร

กรณีธรณีประตูหรือขอบกั้นสูงเกินกว่า ๖ มิลลิเมตร ให้ปรับขอบธรณีประตูหรือขอบกั้นให้มีความลาดเอียงแนวดิ่งต่อแนวราบไม่เกิน ๑ ต่อ ๒

(๔) ประตูทางออกต้องสามารถเปิดออกได้โดยสะดวกตลอดเวลาที่มีคนอยู่ข้างในและต้องเปิดออกในทิศทางการหนีไฟ รวมทั้งเมื่อเปิดออกแล้วจะต้องไม่กีดขวางทางเดินหรือบันไดหรือชานพักบันได

(๕) กรณีเป็นประตูทางออก เมื่อเปิดออกสู่บันไดหนีไฟโดยตรงจะต้องมีชานพักขนาดความกว้างสุทธิด้านละไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เมตร

(๖) ห้ามใช้ประตูเลื่อน ประตูหมุน ประตูเปิดขึ้นบน ประตูเหล็กยืด หรือประตูบานเฟี้ยมเป็นประตูทางออก

(๗) กรณีสถานบริการที่มีพื้นที่บริการอยู่ตั้งแต่ชั้นที่สองขึ้นไป และมีทางปล่อยออกที่อยู่ภายในอาคาร เช่น บริเวณห้องโถง หรือลาน การกำหนดจำนวนคนที่จะระบายออกในทางปล่อยออกดังกล่าวจะต้องไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของจำนวนคนทั้งหมดที่อยู่ภายในอาคาร โดยทางปล่อยออกภายในอาคารดังกล่าวต้องนำไปสู่ภายนอกอาคารและไม่มีสิ่งกีดขวาง พร้อมทั้งมีป้ายบอกทางหนีไฟแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

ข้อ ๓๑ สถานบริการจะต้องมีทางออกหลักที่มีความกว้างเพียงพออย่างน้อยหนึ่งแห่งเพื่อประโยชน์ในการอพยพผู้คนออกสู่ภายนอกอาคารจากเหตุชุลมุนวุ่นวาย โดยความกว้างของทางออกหลักจะต้องรองรับปริมาณคนที่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคนสูงสุดในสถานบริการ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่น้อยกว่าความกว้างของทางหนีไฟทั้งหมดที่ไปสู่ทางออกหลักดังกล่าว และไม่น้อยกว่า ๓.๐๐ เมตร

ในกรณีที่ประตูของทางออกหลักตามวรรคหนึ่งมีจำนวนเกินกว่า ๑ ประตู ผลรวมความกว้างของประตูทางออกทั้งหมดจะต้องไม่น้อยกว่าค่าความกว้างที่กำหนดในวรรคหนึ่ง

ข้อ ๓๒ สถานบริการที่มีพื้นที่บริการอยู่ตั้งแต่ชั้นที่สองขึ้นไป จะต้องมีทางออกหรือประตูทางออกจากสถานบริการ โดยต้องมีระยะห่างจากบันไดหนีไฟหรือทางหนีไฟแห่งใดแห่งหนึ่งไม่เกิน๔๕.๐๐ เมตร เมื่อวัดตามแนวทางเดินสถานบริการที่มีพื้นที่บริการอยู่ระดับพื้นดิน ทางออกหรือประตูทางออกจากสถานบริการจะต้องเปิดออกสู่ภายนอกอาคารโดยตรง หากไม่สามารถเปิดออกสู่ภายนอกโดยตรงต้องอยู่ห่างจากทางออกสู่ภายนอกอาคารแห่งใดแห่งหนึ่งไม่เกิน ๔๕.๐๐ เมตร เมื่อวัดตามแนวทางเดิน

ข้อ ๓๓ ทางหนีไฟของสถานบริการจะต้องมีส่วนปิดล้อมที่ไม่มีช่องให้ไฟหรือควันจากภายนอกผ่านเข้ามาได้ และส่วนปิดล้อมนี้ต้องมีอัตราการทนไฟตามที่กำหนดในตารางที่ ๓ ส่วนปิดล้อมของช่องทางเดินที่นำไปสู่ทางหนีไฟจะต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

ตารางที่ ๓ อัตราการทนไฟของส่วนปิดล้อมในทางหนีไฟ

ประเภทอาคาร

อัตราการทนไฟ

(๑) อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ

(๒) อาคารประเภทอื่น

๒ ชั่วโมง

๑ ชั่วโมง

ผนังโดยรอบของส่วนปิดล้อมในทางหนีไฟที่กำหนดอัตราการทนไฟตามวรรคหนึ่งให้มีลักษณะเป็นไปตามตารางที่ ๔

ตารางที่ ๔ ลักษณะของผนังตามอัตราการทนไฟ

ลักษณะของผนัง

อัตราการทนไฟ (ชั่วโมง)

(๑) ผนังก่ออิฐธรรมดา หนาไม่น้อยกว่า ๑๐๐ มิลลิเมตร

(๒) ผนังก่ออิฐธรรมดา หนาไม่น้อยกว่า ๑๘๐ มิลลิเมตร

(๓) ผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก หนาไม่น้อยกว่า ๑๒๐ มิลลิเมตร

ในกรณีที่ใช้ผนังมีลักษณะนอกเหนือจากที่กำหนดตามตารางที่ ๔ จะต้องมีเอกสารรับรองอัตราการทนไฟซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดจากสถาบันทดสอบประกอบการขออนุญาต

ข้อ ๓๔ สถานบริการจะต้องมีจำนวนทางหนีไฟที่ขึ้นกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในสถานบริการนั้นตามที่กำหนดในตารางที่ ๕

ตารางที่ ๕ จำนวนทางหนีไฟของสถานบริการ

จำนวนคนสูงสุด

จำนวนทางหนีไฟไม่น้อยกว่า

(๑) ไม่เกิน ๕๐๐ คน

(๒) ตั้งแต่ ๕๐๑ คน ถึง ๑,๐๐๐ คน

(๓) ตั้งแต่ ๑,๐๐๑ คนขึ้นไป

๒ แห่ง

๓ แห่ง

๔ แห่ง

ข้อ ๓๕ เส้นทางหนีไฟต้องมีความกว้างอย่างเพียงพอและสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดโดยขนาดความกว้างของเส้นทางหนีไฟดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าผลคูณระหว่างจำนวนคนตามที่คำนวณจากตารางที่ ๒ และตัวคูณคำนวณความกว้างต่ำสุดต่อคนตามที่กำหนดในตารางที่ ๖

ตารางที่ ๖ ตัวคูณคำนวณความกว้างต่ำสุดต่อคน

หน่วย : มิลลิเมตรต่อคน

กรณีไม่ติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

กรณีติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

บันไดหนีไฟ

ส่วนอื่น ๆ เช่น ทางเดิน ทางลาด

ในเส้นทางหนีไฟ ประตูหนีไฟ

บันไดหนีไฟ

ส่วนอื่น ๆ เช่น ทางเดิน ทางลาด

ในเส้นทางหนีไฟ ประตูหนีไฟ

๑๒

แต่ทั้งนี้ความกว้างของส่วนต่าง ๆ ของทางหนีไฟที่ได้จากการคำนวณจะต้องไม่น้อยกว่าค่าที่ได้ดังต่อไปนี้

(๑) บันไดและทางลาดหนีไฟต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า ๑.๑๐ เมตร เว้นแต่สถานบริการที่ได้ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารที่มีการก่อสร้างบันไดหนีไฟให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๕๓๕) หรือกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้วแต่กรณี

(๒) ชานพักบันไดต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างสุทธิของบันได

(๓) ช่องประตูในเส้นทางหนีไฟจะต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า ๐.๘๔ เมตรโดยห้ามมีสิ่งกีดขวางตลอดเส้นทางหนีไฟ

ข้อ ๓๖ สถานบริการที่มีพื้นที่บริการอยู่ตั้งแต่ชั้นที่สองขึ้นไปที่มิใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟที่ไม่ใช่บันไดในแนวดิ่ง และบันไดหนีไฟจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีผนังทนไฟโดยรอบ ยกเว้นช่องระบายอากาศ

(๒) บันไดหนีไฟและชานพักส่วนที่อยู่ภายนอกอาคารต้องมีผนังด้านที่บันไดพาดผ่านเป็นผนังทนไฟ

(๓) ประตูสู่บันไดหนีไฟต้องเป็นบานเปิดที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงช่องประตูต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า ๐.๘๔ เมตร และสูงสุทธิไม่น้อยกว่า ๑.๙๗ เมตร พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดได้เอง เพื่อป้องกันควันและเปลวไฟมิให้เข้าสู่บันไดหนีไฟและอุปกรณ์ปลดล็อคประตูชนิดแกนผลัก

ข้อ ๓๗ แนวทางเดินภายในสถานบริการต้องมีป้ายบอกทางหนีไฟที่เห็นได้ชัดเจนตลอดเวลาไปสู่บันไดหนีไฟหรือทางหนีไฟได้โดยสะดวก โดยรายละเอียดของป้ายบอกทางหนีไฟดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยป้ายบอกทางหนีไฟของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

ข้อ ๓๘ สถานบริการประเภท ข และประเภท ค จะต้องมีที่ว่างภายนอกโดยรอบอาคารสถานบริการ ซึ่งไม่มีสิ่งกีดขวางและมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า ๒.๐๐ เมตร

ข้อ ๓๙ สถานบริการจะต้องติดป้ายแสดงความจุคนในสถานบริการ โดยให้ยึดติดแบบถาวรไว้ในตำแหน่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น บริเวณห้องโถง หรือใกล้ทางเข้าหลัก และป้ายดังกล่าวจะต้องทำด้วยวัสดุถาวร

หมวด ๖

ระบบการระบายอากาศ

-----------------------

ข้อ ๔๐ ระบบการระบายอากาศในสถานบริการจะจัดให้มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติหรือโดยวิธีกลก็ได้

ข้อ ๔๑ ในกรณีที่จัดให้มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ ห้องในสถานบริการต้องมีประตูหน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศด้านติดกับอากาศภายนอกเป็นพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของพื้นที่ของห้องนั้น ทั้งนี้ ไม่นับรวมพื้นที่ของประตู หน้าต่าง และช่องระบายอากาศที่ติดต่อกับห้องอื่นหรือช่องทางเดินภายในอาคารความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ห้องหรือสถานที่ที่ใช้เก็บของหรือสินค้าในสถานบริการ

ข้อ ๔๒ ในกรณีที่ไม่อาจจัดให้มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติตามข้อ ๔๑ ได้ให้จัดให้มีการระบายอากาศโดยวิธีกลซึ่งใช้กลอุปกรณ์ขับเคลื่อนอากาศ กลอุปกรณ์นี้ต้องทำงานตลอดเวลาระหว่างที่ใช้สอยพื้นที่นั้น และการระบายอากาศต้องมีการนำอากาศภายนอกเข้ามาในพื้นที่ไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดในตารางที่ ๗

ตารางที่ ๗ อัตราการระบายอากาศโดยวิธีกล

ประเภทกิจการการใช้อาคาร

อัตราการระบายอากาศไม่น้อยกว่า

จำนวนเท่าของปริมาตรของห้องใน ๑ ชั่วโมง

(๑) ห้องน้ำ ห้องส้วม

(๒) สถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

(๓) สำนักงาน

(๔) ห้องครัว

๒๔

สำหรับห้องครัวของสถานบริการที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ถ้าได้จัดให้มีการระบายอากาศครอบคลุมแหล่งที่เกิดกลิ่น ควัน หรือก๊าซ ที่ต้องการระบายในขนาดที่เหมาะสมแล้วจะมีอัตราการระบายอากาศในส่วนอื่นของห้องครัวนั้นน้อยกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในตารางที่ ๗ ก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๑๒ เท่าของปริมาตรของห้องในหนึ่งชั่วโมง

การใช้สถานที่เพื่อประกอบกิจการอื่นที่มิได้ระบุไว้ในตารางที่ ๗ ให้ใช้อัตราการระบายอากาศที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอัตราที่กำหนดไว้ในตารางดังกล่าว

ข้อ ๔๓ ในกรณีที่จัดให้มีการระบายอากาศด้วยระบบการปรับภาวะอากาศ ต้องมีการนำอากาศภายนอกเข้ามาในพื้นที่ปรับภาวะอากาศ หรือดูดอากาศจากภายในพื้นที่ปรับภาวะอากาศออกไปไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดในตารางที่ ๘

ตารางที่ ๘ อัตราการระบายอากาศในกรณีที่มีระบบการปรับภาวะอากาศ

ประเภทกิจการการใช้อาคาร

ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง/ตารางเมตร

(๑) สำนักงาน

(๒) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว

(๓) บริเวณที่นั่งสำหรับคนดู

(๔) ห้องน้ำ ห้องส้วม

(๕) สถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

(๖) ไนต์คลับ บาร์ หรือพื้นที่ที่ใช้ในการเต้นรำ รำวง

(๗) ห้องครัว

๑๐

๑๐

๑๐

๓๐

การใช้สถานที่เพื่อประกอบกิจการอื่นที่มิได้ระบุไว้ในตารางที่ ๘ ให้ใช้อัตราการระบายอากาศที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอัตราที่กำหนดไว้ในตารางดังกล่าว

ข้อ ๔๔ ตำแหน่งของช่องนำอากาศภายนอกเข้าโดยวิธีกล ต้องห่างจากที่เกิดอากาศเสียและช่องระบายอากาศทิ้งไม่น้อยกว่า ๕.๐๐ เมตร และสูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เมตร

การนำอากาศภายนอกเข้าและการระบายอากาศทิ้งโดยวิธีกล ต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนผู้อาศัยใกล้เคียง

ข้อ ๔๕ ระบบท่อลมของระบบปรับภาวะอากาศต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) ท่อลม วัสดุหุ้มท่อลม และวัสดุบุภายในท่อลม ต้องเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟและไม่เป็นส่วนที่ทำให้เกิดควันพิษเมื่อเกิดเพลิงไหม้

(๒) ท่อลมส่วนที่ติดตั้งผ่านผนังทนไฟหรือพื้นของอาคารที่ทำด้วยวัสดุทนไฟต้องติดตั้งลิ้นกันไฟที่ปิดอย่างสนิทโดยอัตโนมัติเมื่ออุณหภูมิสูงเกินกว่า ๗๔ องศาเซลเซียส และลิ้นกันไฟต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าอัตราการทนไฟของผนังทนไฟ หรือพื้นของอาคารในส่วนนั้น ๆ

(๓) ห้ามใช้ทางเดินร่วม บันได ช่องบันได ช่องลิฟต์ของอาคาร เป็นส่วนหนึ่งของระบบท่อลมส่งหรือระบบท่อลมกลับ เว้นแต่ส่วนที่เป็นพื้นที่ว่างระหว่างเพดานกับพื้นของอาคารชั้นเหนือขึ้นไปหรือหลังคาที่มีส่วนประกอบของเพดานที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง

หมวด ๗

ผู้ดูแลระบบความปลอดภัยและการตรวจสอบอาคาร

-----------------------

ข้อ ๔๖ ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการหรือเจ้าของอาคารที่ใช้ตั้งสถานบริการต้องจัดให้มีผู้ดูแลระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตรายของสถานบริการอย่างน้อยหนึ่งคนซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์และอย่างน้อยได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพแผนกช่างไฟฟ้าช่างเครื่องยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างก่อสร้าง หรือช่างอิเล็กทรอนิกส์ หรือมีประสบการณ์ควบคุมดูแลสถานบริการไม่น้อยกว่าห้าปีเพื่อควบคุม ดูแล และปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ตลอดเวลาที่เปิดดำเนินการ

ข้อ ๔๗ อาคารสถานบริการที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ให้ผู้ตรวจสอบอาคารตรวจสอบวัสดุที่ใช้ภายในสถานบริการและทางเดินทั้งหมด รวมถึงวัสดุตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดาน และกระจกให้เป็นไปตามข้อ ๑๔ และข้อ ๑๗ เพิ่มเติมจากการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร

หมวด ๘

การแก้ไขระบบความปลอดภัย

-----------------------

ข้อ ๔๘ ในกรณีที่อาคารสถานบริการมีสภาพหรือมีการใช้ที่ไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือฝ่าฝืนกฎกระทรวงนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการหรือเจ้าของอาคารที่ใช้ตั้งสถานบริการดำเนินการแก้ไขระบบความปลอดภัยให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยหรือสามารถใช้งานได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้

ในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง และหากมีผลทำให้อาคารนั้นมีสภาพหรือการใช้อาคาร หรือระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยที่อาจเป็นภยันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการหรือเจ้าของอาคารใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้อาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขเพื่อบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายนั้นแล้วก็ได้ และต้องจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ บริเวณอาคารหรือบริเวณดังกล่าว

บทเฉพาะกาล

-----------------------

ข้อ ๔๙ ผู้ประกอบกิจการสถานบริการที่ได้ดำเนินกิจการอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับจะต้องทำการปรับปรุงหรือติดตั้งวัสดุ ระบบ และอุปกรณ์ประกอบอาคารต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อ ๑๔ ข้อ ๑๗ ข้อ ๒๐ ข้อ ๒๕ ข้อ ๒๖ ข้อ ๒๘ ข้อ ๓๐ และข้อ ๓๙ ภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ประกอบกิจการสถานบริการประเภท ก ไม่ต้องดำเนินการตามข้อ ๑๗

ผู้ประกอบกิจการสถานบริการประเภท ฉ ที่ได้ดำเนินกิจการอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ดำเนินการเฉพาะข้อ ๒๕ และข้อ ๒๖ ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

 

                                                                                                ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

                                                                                                                   ยงยุทธ วิชัยดิษฐ

                                                                                                  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการมีระบบความปลอดภัยของอาคารไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้อาคารที่มีความจำเป็นต้องมีความปลอดภัยจากอัคคีภัยอย่างเพียงพอแต่เมื่ออาคารดังกล่าวมีระบบความปลอดภัยไม่เพียงพอเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุชุลมุนวุ่นวายจะทำให้ไม่สามารถอพยพผู้คนออกจากอาคารดังกล่าวได้ทัน อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยสำหรับอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ สมควรกำหนดประเภทระบบความปลอดภัย การป้องกันอันตราย และการตรวจสอบของอาคารดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๐ ก ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.

   

                                  ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1                                      



  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th