ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




พระราชบัญญัติ โรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ article
วันที่ 16/08/2022   15:32:04

พระราชบัญญัติ
โรงงาน
พ.ศ. 2535
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535”

มาตรา 21 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

1 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 44/หน้า 62/9 เมษายน 2535

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512

(2) พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518

(3) พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522

มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่โรงงานของทางราชการที่ดำเนินการโดยทางราชการ เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ แต่ในการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัตินี้ไปเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

มาตรา 4/1 ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้โรงงานดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นจากการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้บางส่วนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำาหนด

(1) โรงงานของทางราชการ นอกจากโรงงานที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 4

(2) โรงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาวิจัย

(3) โรงงานของสถาบันการศึกษาในส่วนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกอบรม

(4) โรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว

(5) โรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่มิใช่โรงงาน ตามพระราชบัญญัตินี้และตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

มาตรา 4/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้

โรงงาน” หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตามเพื่อประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง

คำนิยาม “โรงงาน” แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

“ตั้งโรงงาน” หมายความว่า การนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการโรงงาน หรือนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร

คำนิยาม “ตั้งโรงงาน” แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

ประกอบกิจการโรงงาน หมายความว่า การทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ ตามลักษณะกิจการของโรงงานแต่ไม่รวมถึงการทดลองเดินเครื่องจักร

เครื่องจักร หมายความว่า สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับใช้ก่อกำเนิดพลังงาน เปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ ลม ก๊าซ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน และหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ไฟลวีล ปุลเล สายพาน เพลา เกียร์ หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสนองกัน

คนงาน หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานในโรงงาน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ซึ่งทำงานฝ่ายธุรการ

ผู้อนุญาต หมายความว่า ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายตามความเหมาะสม

ใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

“ผู้ตรวจสอบเอกชน” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองตามพระราชบัญญัตินี้

คำนิยาม “ผู้ตรวจสอบเอกชน” เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”  หมายความว่าเทศบาล  องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยา  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งแต่ไม่หมายความรวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด

คำนิยาม “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

“ข้าราชการส่วนท้องถิ่น”  หมายความว่าพนักงานเทศบาล  พนักงานส่วนตำบล  ข้าราชการกรุงเทพมหานคร  พนักงานเมืองพัทยา  และข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งแต่ไม่หมายความรวมถึงข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด

คำนิยาม “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

ปลัดกระทรวง หมายความว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้าย พระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น กับออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

การออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงประเภท ชนิด หรือขนาดของโรงงานก็ได้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 6 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

หมวด 1
การประกอบกิจการโรงงาน
-----------------------

มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้โรงงานตามประเภท ชนิดหรือขนาดใดเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 โรงงานจำพวกที่ 2 หรือโรงงานจำพวกที่ 3 แล้วแต่กรณี โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการควบคุมดูแล การป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญ การป้องกันความเสียหาย และการป้องกันอันตรายตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็นดังนี้

(1) โรงงานจำพวกที่ 1 ได้แก่โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันทีตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการโรงงาน

(2) โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน

มาตรา 7(2) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

(3) โรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้

เมื่อมีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 32 (1) ให้โรงงานที่กำหนดในประกาศดังกล่าวเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ด้วย

มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อให้โรงงานจำพวกใดจำพวกหนึ่งหรือทุกจำพวกตามมาตรา 7 ต้องปฏิบัติตามในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้งของโรงงาน สภาพแวดล้อมของโรงงานลักษณะอาคารของโรงงานหรือลักษณะภายในของโรงงาน

(2) กำหนดลักษณะ ประเภทหรือชนิดของเครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน

(3) กำหนดให้มีคนงานซึ่งมีความรู้เฉพาะตามประเภท ชนิดหรือขนาดของโรงงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดประจำโรงงาน

(4) กำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติ กรรมวิธีการผลิตและการจัดให้มีอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใด เพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่อาจเกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน

(5) กำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน

(6) กำหนดการจัดให้มีเอกสารที่จำเป็นประจำโรงงานเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย

(7) กำหนดข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้ทราบเป็นครั้งคราวหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

(8) กำหนดการอื่นใดเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน เพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน

กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดให้ยกเว้นโรงงานประเภท ชนิด หรือขนาดใดจากการต้องปฏิบัติในเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้ และกฎกระทรวงดังกล่าวจะสมควรกำหนดให้เรื่องที่เป็นรายละเอียดทางด้านเทคนิคหรือเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามสภาพสังคม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ได้

มาตรา 9 ในกรณีที่บทบัญญัติใดแห่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบโรงงาน หรือเครื่องจักร หรือดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง อาจกำหนดให้ผู้ตรวจสอบเอกชนดำเนินการและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่บทบัญญัติใดแห่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีหน้าที่ต้องเสนอรายงานผลการปฏิบัติการที่ได้ดำเนินการและได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบเอกชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ผู้ตรวจสอบเอกชนตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องได้รับใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองจากผู้อนุญาต

การขอรับและการออกใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง วิธีการตรวจสอบ กำหนดเวลาในการตรวจสอบ การจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ การรายงานและกำหนดระยะเวลาการเสนอรายงานผลการปฏิบัติการของผู้ประกอบกิจการโรงงาน และการให้คำรับรอง รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบหรือรับรอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 9 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 9/1 ผู้ขอรับใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติ

(1) มีสัญชาติไทย

(2) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่าห้าปีในงานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย ด้านสารเคมี ด้านไฟฟ้า ด้านพลังงาน ด้านเครื่องกล ด้านโยธา หรือด้านอื่น ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมด้านหนึ่งด้านใดก็ได้ ทั้งนี้ การนับระยะเวลาของประสบการณ์การทำงานในแต่ละด้านนั้น ให้สามารถนำมารวมกันได้

(3) ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบความรู้ด้านการตรวจสอบหรือรับรองโรงงานหรือเครื่องจักรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข. ลักษณะต้องห้าม

(1) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตหรืออยู่ในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์

(2) เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(3) เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเนื่องจากเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง

(4) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(5) เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(6) เป็นผู้เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 9/2 ผู้ขอรับใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติ

(1) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจหรือให้บริการเกี่ยวกับการตรวจสอบหรือรับรองโรงงานหรือเครื่องจักร และต้องมีทุนจดทะเบียนหรือหุ้นที่ชำระแล้วที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท

(2) หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ หรือสมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9/1

(3) มีผู้ตรวจสอบเอกชนซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9/1 ตามจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดปฏิบัติงานประจำอยู่ในนิติบุคคลนั้น

(4) ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหน่วยตรวจสอบหรือหน่วยรับรองในขอบข่ายทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย ด้านสารเคมี ด้านไฟฟ้า ด้านพลังงาน ด้านเครื่องกล ด้านโยธา หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม

ข. ลักษณะต้องห้าม

(1) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตหรืออยู่ในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือฟื้นฟูกิจการ

(2) เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่เป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว

(3) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9/1 ข. (5)

มาตรา 9/3 ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองตามมาตรา 9 ให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินแห่งปีที่สามนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง

ผู้ตรวจสอบเอกชนซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน และให้ผู้อนุญาตพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอต่ออายุใบอนุญาต

การขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 9/4 ในกรณีที่ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองสูญหาย ชำรุดในสาระสำคัญ หรือถูกทำลาย ให้ผู้ตรวจสอบเอกชนยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองต่อผู้อนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ชำรุด หรือถูกทำลาย การขอรับและการออกใบแทนใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 9/5 ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง เมื่อปรากฏว่าผู้ตรวจสอบเอกชนผู้ใดมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ โดยผู้อนุญาตแจ้งเตือนเป็นหนังสือให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว แต่ไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาดังกล่าว

(2) รายงานผลการตรวจสอบหรือรับรองผิดพลาดจนเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีการออกคำสั่งตามมาตรา 37 และมาตรา 39

การสั่งพักใช้ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน และในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้

การออกหนังสือเตือนและการสั่งพักใช้ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 9/6 ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง เมื่อปรากฏว่าผู้ตรวจสอบเอกชนนั้น

(1) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9/1 หรือมาตรา 9/2

(2) เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองมาแล้วรวมสามครั้งภายในกำหนดระยะเวลาสองปี

(3) จัดทำรายงานผลการตรวจสอบหรือรับรองตามมาตรา 9 อันเป็นเท็จ

ผู้ตรวจสอบเอกชนซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งจะขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปีนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

การเพิกถอนใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 9/1, 9/2, 9/3, 9/4, 9/5 และ 9/6 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 10 ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 และประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าว

มาตรา 11 ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 และประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าว และเมื่อจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน

แบบและรายละเอียดที่ต้องแจ้งและแบบใบรับแจ้ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับแจ้งเพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งให้แก่ผู้แจ้งในวันที่ได้รับแจ้ง และให้ผู้แจ้งประกอบกิจการโรงงานได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบรับแจ้ง

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบในภายหลังว่าการแจ้งตามวรรคหนึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว

การเลิกประกอบกิจการ การโอน การให้เช่าหรือการให้เช่าซื้อโรงงานจำพวกที่ 2 ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว

มาตรา 11/1 เมื่อรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดตามที่กำหนดไว้สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 1  และโรงงานจำพวกที่ 2  ที่ตั้งอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

การแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำลเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้กระทำเฉพาะกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีความพร้อม

ให้ปลัดกระทรวงและพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรม  มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ในการแนะนำหรือสั่งระงับการดำเนินการใดอันเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้และรายงานให้นายอำเภอ  ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

มาตรา 11/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

มาตรา 12 ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าวและประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 32

ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต

การยื่นคำขอรับใบอนุญาตและขั้นตอนการพิจารณาและระยะเวลาในการพิจารณาออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตร้องขอหนังสือรับรองก่อนออกใบอนุญาต ถ้าการพิจารณาเบื้องต้นเพียงพอที่จะอนุมัติในหลักการได้ ให้ผู้อนุญาตออกหนังสือรับรองให้โดยสงวนส่วนที่พิจารณาไม่แล้วเสร็จได้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในการออกใบอนุญาตให้ผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าวและประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 32 ถ้ากรณีใดยังมิได้มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานหรือเป็นกรณีที่ต้องปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 32 ในการนี้จะกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะต้องปฏิบัติเป็นพิเศษไว้ในใบอนุญาตก็ได้

มาตรา 13 ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 ถ้าประสงค์จะเริ่มประกอบกิจการโรงงานในส่วนหนึ่งส่วนใด ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเริ่มประกอบกิจการโรงงาน

ถ้าจะมีการทดลองเดินเครื่องจักรก่อนการเริ่มประกอบกิจการโรงงานตามวรรคหนึ่ง ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งวัน เวลา และระยะเวลาการทดลองเดินเครื่องจักรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบไม่น้อยกว่าสิบห้าวันด้วย

หลักเกณฑ์และระยะเวลาที่อาจใช้เพื่อการทดลองเดินเครื่องจักร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 14

มาตรา 15

มาตรา 14 และ 15 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 16 คำสั่งไม่ออกใบอนุญาต คำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายโรงงาน คำสั่งไม่ออกหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง หรือคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา 17 โรงงานใดที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานได้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว หากภายหลังปรากฏว่าใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมลดลงต่ำกว่าห้าสิบแรงม้าหรือจำนวนคนงานลดลงต่ำกว่าห้าสิบคน ให้ถือว่าโรงงานนั้นยังเป็นโรงงานตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้แจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน

มาตรา 18 ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตขยายโรงงาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต

การขยายโรงงานตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึงกรณีดังต่อไปนี้

(1) การเพิ่มจำนวน เปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเพื่อประกอบกิจการโรงงานเดิมหรือประกอบกิจการในประเภทหรือชนิดที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโรงงานเดิม ทำให้กำลังรวมเพิ่มขึ้นในลักษณะ ดังต่อไปนี้

(ก) เพิ่มขึ้นตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมไม่เกินหนึ่งร้อยแรงม้า

(ข) เพิ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งร้อยแรงม้าขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมเกินหนึ่งร้อยแรงม้า แต่ไม่เกินห้าร้อยแรงม้า

(ค) เพิ่มขึ้นตั้งแต่สองร้อยแรงม้าขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมเกินห้าร้อยแรงม้า แต่ไม่เกินหนึ่งพันแรงม้า

(ง) เพิ่มขึ้นตั้งแต่สามร้อยแรงม้าขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมเกินหนึ่งพันแรงม้า แต่ไม่เกินสองพันแรงม้า

(จ) เพิ่มขึ้นตั้งแต่สี่ร้อยแรงม้าขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมเกินสองพันแรงม้า แต่ไม่เกินสามพันแรงม้า

(ฉ) เพิ่มขึ้นตั้งแต่ห้าร้อยแรงม้าขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมเกินสามพันแรงม้าขึ้นไป

(2) การดำเนินการตาม (1) ซึ่งกระทำบนที่ดินแปลงใหม่ที่ติดกับที่ดินที่ตั้งโรงงานเดิมหรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ขยายโรงงานไว้เดิม

การอนุญาตให้ขยายโรงงานให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของใบอนุญาต

การขอขยายโรงงานและการอนุญาตให้ขยายโรงงาน ให้นำมาตรา 12 และมาตรา 13 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 16, 17 และ 18 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 18/1 การขยายโรงงานตามมาตรา 18 เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต

(1) เพื่อให้มีการบำบัดมลพิษหรือเพื่อให้การบำบัดมลพิษเดิมมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

(2) เพื่อให้มีมาตรการป้องกันหรือลดเหตุเดือดร้อนรำคาญ

(3) เพื่อการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเดิมที่เป็นเครื่องต้นกำลังให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น หรือเพื่อให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง

(4) เพื่อการเปลี่ยนแปลงพลังงานของเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

ก่อนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งผู้อนุญาตทราบเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 และประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 32

การแจ้งตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

เครื่องจักรที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรานี้ให้ถือเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน

มาตรา 18/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 19 เมื่อผู้รับใบอนุญาตเพิ่มจำนวน เปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เครื่องจักรที่ใช้เป็นเครื่องต้นกำลัง เครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดมลพิษ หรือมาตรการป้องกันหรือลดเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือพลังงานของเครื่องจักรเป็นอย่างอื่นอันทำให้เครื่องจักรมีกำลังแรงม้ารวมลดลง หรือเพิ่มขึ้นแต่ไม่ถึงขั้นขยายโรงงาน หรือเพิ่มเนื้อที่อาคารโรงงานออกไป หรือก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์แก่กิจการของโรงงานนั้นโดยตรงอันทำให้เนื้อที่ของอาคารโรงงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ห้าร้อยตารางเมตรขึ้นไปในกรณีเนื้อที่ของโรงงานมีไม่เกินสองพันตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งพันตารางเมตรขึ้นไปในกรณีเนื้อที่ของโรงงานมีเกินกว่าสองพันตารางเมตร ให้ผู้รับใบอนุญาตนั้น แจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งที่เป็นการเพิ่มจำนวน เปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรต้องดำเนินการในโรงงานหรือที่ดินเดิมที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับอนุญาตให้ขยายโรงงานแล้ว และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

การแจ้งการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เครื่องจักรที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน

มาตรา 19 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 19/1 เมื่อผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะเพิ่มประเภทหรือชนิดของการประกอบกิจการโรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโรงงานเดิม ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนการดำเนินการ

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการในโรงงานหรือที่ดินเดิมที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับอนุญาตให้ขยายโรงงานแล้ว และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

การแจ้งการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 19/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 20 เงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคห้า หากผู้อนุญาตเห็นสมควรยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเงื่อนไขให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติในการประกอบกิจการโรงงาน ก็ให้มีหนังสือสั่งการให้ปฏิบัติได้

ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดต้องการยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติในการประกอบกิจการโรงงาน ให้ยื่นคำขอและชี้แจงเหตุผลต่อผู้อนุญาต ให้ผู้อนุญาตพิจารณาและมีหนังสือสั่งการโดยมิชักช้า

หากผู้รับใบอนุญาตไม่เห็นด้วยกับความเห็นของผู้อนุญาต ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือสั่งการ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา 21 ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่อาจตั้งโรงงานหรือตั้งโรงงานแล้วแต่ไม่อาจเริ่มประกอบกิจการโรงงานได้ภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตนั้นสามารถโอนใบอนุญาตได้ โดยให้ผู้ซึ่งประสงค์จะรับโอนใบอนุญาตยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการโอนใบอนุญาต ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อโรงงาน หรือขายโรงงาน เมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ในระหว่างที่รอการพิจารณาอนุญาตจากผู้อนุญาต ให้ถือเสมือนว่าผู้ยื่นคำขอนั้นเป็นผู้รับใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตเดิมมิได้เป็นผู้รับใบอนุญาตตั้งแต่วันที่มีการโอนใบอนุญาต ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อโรงงานหรือขายโรงงาน อีกต่อไป

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตโอนการประกอบกิจการโรงงาน ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อโรงงาน หรือขายโรงงาน ให้ถือว่าผู้นั้นได้เลิกประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่วันที่มีการโอนการประกอบกิจการโรงงาน ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อโรงงาน หรือขายโรงงาน

ให้ผู้รับโอนการประกอบกิจการโรงงาน ผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อโรงงาน หรือผู้ซื้อโรงงานตามวรรคสองยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ถือว่ามีการเลิกประกอบกิจการโรงงานตามวรรคสอง และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ในระหว่างที่รอการพิจารณาอนุญาตจากผู้อนุญาต ให้ประกอบกิจการโรงงานต่อไปได้โดยให้ถือเสมือนว่าผู้ยื่นคำขอนั้นเป็นผู้รับใบอนุญาต

การขอรับโอนใบอนุญาต และการอนุญาตให้โอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวต้องระบุระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้ด้วย

มาตรา 21 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 22 ในกรณีผู้รับใบอนุญาตตาย ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตตาย หรือภายในระยะเวลาที่ผู้อนุญาตพิจารณากำหนดเพิ่มเติมให้ตามความจำเป็น หากไม่ได้ยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด และผู้นั้นประสงค์จะประกอบกิจการโรงงานต่อไป ให้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตใหม่

มาตรา 22 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 23 ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ ณ ที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายในโรงงานของตน

มาตรา 24 เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อโรงงานหรือชื่อผู้รับใบอนุญาต ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยน

มาตรา 25 ในกรณีใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหายหรือถูกทำลาย

มาตรา 26 ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะย้ายเครื่องจักรบางส่วนที่ติดตั้งในโรงงานไปยังสถานที่อื่นเพื่อประกอบกิจการโรงงานเป็นการชั่วคราว ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อผู้อนุญาต พร้อมทั้งแผนผังและรายละเอียดอื่นแสดงเหตุผลประกอบการพิจารณาด้วย

ถ้าผู้อนุญาตเห็นสมควร ก็ให้สั่งอนุญาตให้ย้ายเครื่องจักรไปประกอบกิจการตามคำขอได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง ในการนี้จะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยให้ปฏิบัติด้วยก็ได้

ถ้าผู้รับใบอนุญาตมีความจำเป็นจะต้องประกอบกิจการนั้นเกินกว่าระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาตตามวรรคสอง ก็ให้ขอขยายระยะเวลาต่อผู้อนุญาตก่อนระยะเวลานั้นสิ้นสุดลง ถ้าผู้อนุญาตเห็นสมควรก็ให้สั่งอนุญาตขยายระยะเวลาต่อไปได้ไม่เกินหนึ่งปี

มาตรา 27 ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะย้ายโรงงานไปยังที่อื่น ให้ดำเนินการเสมือนการตั้งโรงงานใหม่

มาตรา 28 ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะเลิกประกอบกิจการโรงงาน ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาตไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันเลิกประกอบกิจการ

ในกรณีที่ผู้อนุญาตเห็นว่า โรงงานตามวรรคหนึ่งมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่บุคคล ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้รับใบอนุญาตนั้นแก้ไขปรับปรุงโรงงานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ และให้ถือว่าผู้นั้นมีฐานะเสมือนเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะดำเนินการตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่

หากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสอง ให้นำมาตรา 42 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การแจ้งเลิกประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 28 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 28/1 ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะเปลี่ยนแปลงโรงงานจำพวกที่ 3 เป็นโรงงานจำพวกที่ 1 หรือโรงงานจำพวกที่ 2 แล้วแต่กรณี ให้แจ้งการเลิกประกอบกิจการโรงงานตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และเมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต่อไป ให้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ สำหรับการประกอบกิจการโรงงานจำพวกดังกล่าว

มาตรา 28/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 29 ในกรณีที่มีกฎกระทรวงตามมาตรา 7 หรือประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 32 (1) ทำให้โรงงานจำพวกที่ 1 หรือโรงงานจำพวกที่ 2 เปลี่ยนเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ถ้าผู้ประกอบกิจการโรงงานยื่นคำขอใบอนุญาตตามมาตรา 12 ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นมีผลบังคับ ให้ผู้นั้นประกอบกิจการโรงงานต่อไปได้โดยมีฐานะเสมือนเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตโดยไม่ชักช้า

มาตรา 30 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมได้

การประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 หรือโรงงานจำพวกที่ 3 ภายในเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามวรรคหนึ่ง หรือเขตนิคมอุตสาหกรรมซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามมาตรา 11 หรือได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 แล้วแต่กรณี แต่การประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าว ประศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 32 (1) และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวกับการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ถือเสมือนเป็นผู้แจ้งหรือผู้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี

เมื่อได้กำหนดให้ท้องที่ใดเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแล้ว รัฐมนตรีอาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณโดยรอบเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรมภายในระยะที่กำหนดเป็นเขตห้ามประกอบกิจการโรงงานโดยเด็ดขาดหรือจะอนุญาตให้ประกอบกิจการได้เฉพาะโรงงานบางประเภท ชนิดหรือขนาดใดก็ได้

มาตรา 31 เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ถ้าการประกอบกิจการโรงงานใดมีกรณีที่เกี่ยวข้องอันจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้และพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินตามกฎหมายในเรื่องนั้นๆ อาจกำหนดวิธีการในการดำเนินการเพื่อพิจารณาอนุญาตร่วมกันก็ได้

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งจะกำหนดให้กระทำโดยมีการยื่นคำขอร่วมกัน หรือจะให้มีผลเป็นการยกเว้นแบบเอกสารที่ต้องใช้ รายการและข้อมูลที่ต้องแสดง สถานที่ต้องยื่นคำขอหรือเอกสาร และขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตที่ซ้ำซ้อนหรือคล้ายคลึงกัน หรืออาจก่อให้เกิดอุปสรรคแก่การพิจารณาอนุญาตร่วมกันโดยไม่จำเป็นเสียก็ได้ และในกรณีที่สมควรจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการใดให้ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมแทนก็ได้ แต่การอนุญาตจะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ในการพิจารณาอนุญาตร่วมกัน พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตรวจสอบ ผู้มีอำนาจพิจารณาส่วนหนึ่งส่วนใดในการอนุญาตหรือผู้มีอำนาจอนุญาตอาจมอบอำนาจของตนให้พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการแทนได้ตามความเหมาะสม

การกำหนดและการมอบอำนาจตามวรรคสองและวรรคสาม เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้มีผลใช้บังคับได้

หมวด 2
การกำกับและดูแลโรงงาน
-----------------------

มาตรา 32 เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงความปลอดภัยของประเทศหรือของสาธารณชน ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) กำหนดจำนวนและขนาดของโรงงานแต่ละประเภทหรือชนิดที่จะให้ตั้งหรือขยาย หรือที่จะไม่ให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง

(2) กำหนดชนิด คุณภาพ อัตราส่วนของวัตถุดิบ แหล่งกำเนิดของวัตถุดิบและหรือปัจจัยหรือชนิดของพลังงานที่จะนำมาใช้หรือผลิตในโรงงาน

(3) กำหนดชนิดหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในโรงงานที่จะให้ตั้งหรือขยาย

(4) กำหนดให้นำผลผลิตของโรงงานที่จะให้ตั้งหรือขยายไปใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท หรือให้ส่งผลผลิตออกนอกราชอาณาจักรทั้งหมดหรือบางส่วน

มาตรา 33 เมื่อโรงงานจำพวกที่ 2 หรือโรงงานจำพวกที่ 3 หยุดดำเนินงานติดต่อกันเกินกว่าหนึ่งปี ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 แล้วแต่กรณี ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันพ้นกำหนดหนึ่งปี

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานตามวรรคหนึ่งประสงค์จะประกอบกิจการโรงงานต่อไป ให้ดำเนินการตามแต่กรณี ดังนี้

(1) ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ให้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนเริ่มประกอบกิจการ

(2) ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อนจึงจะประกอบกิจการโรงงานต่อไปได้

ในการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต่อไปนั้น ถ้าผลการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ปรากฏว่าโรงงานและเครื่องจักรมีลักษณะถูกต้องตามมาตรา 8 ประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 และประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 32 และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตมีคำสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานต่อไปได้ หากมีกรณีที่ไม่ถูกต้อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อได้แก้ไขแล้วให้ผู้อนุญาตมีคำสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานต่อไปได้

การอุทธรณ์คำสั่งของผู้อนุญาตตามวรรคสาม ให้นำมาตรา 16 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 33 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 34 ในกรณีมีอุบัติเหตุในโรงงานเนื่องจากโรงงานหรือเครื่องจักรของโรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีของโรงงานจำพวกใด ถ้าอุบัติเหตุนั้น

(1) เป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ ซึ่งภายหลังเจ็ดสิบสองชั่วโมงแล้วยังไม่สามารถทำงานในหน้าที่เดิมได้ ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสามวันนับแต่วันตาย หรือวันครบกำหนดเจ็ดสิบสองชั่วโมงแล้วแต่กรณี

(2) เป็นเหตุให้โรงงานต้องหยุดดำเนินงานเกินกว่าเจ็ดวัน ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสิบวันนับแต่วันเกิดอุบัติเหตุเมื่อเกิดอุบัติเหตุในโรงงานใดตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจโรงงานและเครื่องจักรและพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 37 หรือมาตรา 39 แล้วแต่กรณี

มาตรา 35 เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปในโรงงานหรืออาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่มีเหตุควรสงสัยว่าจะประกอบกิจการโรงงานในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่ดังกล่าว เพื่อตรวจสภาพโรงงาน อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะ สภาพเครื่องจักร หรือการกระทำใดที่อาจเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

(2) นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่สงสัยเกี่ยวกับคุณภาพในปริมาณพอสมควรเพื่อตรวจสอบคุณภาพพร้อมกับเอกสารที่เกี่ยวข้อง

(3) ตรวจ ค้น กัก ยึดหรืออายัดผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุ สมุดบัญชี เอกสารหรือสิ่งใดๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีเหตุสงสัยว่าการประกอบกิจการของโรงงานอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน หรือมีการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้

(4) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้

มาตรา 36 เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ 4 มีอำนาจจับกุมผู้นั้นเพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย

มาตรา 37 ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือการประกอบกิจการโรงงานมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือแก้ไขหรือปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดได้

ในกรณีที่เห็นสมควร เมื่อได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวง หรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจผูกมัดประทับตราเครื่องจักร เพื่อมิให้เครื่องจักรทำงานได้ในระหว่างการปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 38 การส่งคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือโรงงานของบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำสั่ง ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำส่งแล้วแต่บุคคลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมรับคำสั่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจไปเป็นพยานเพื่อวางคำสั่งไว้ ณ ที่นั้น แต่ถ้าไม่พบบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำสั่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการของบุคคลนั้นจะส่งให้กับบุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วซึ่งอยู่หรือทำงาน ณ ที่นั้นก็ได้ และถ้าไม่พบบุคคลใดหรือพบแต่ไม่มีบุคคลใดยอมรับไว้แทน ให้ปิดคำสั่งนั้นไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือโรงงานนั้นต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ไปเป็นพยาน

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ถือว่าบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งได้รับคำสั่งนั้นแล้ว แต่ถ้าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือโดยการปิดคำสั่ง ให้ถือว่าได้รับคำสั่งนั้นเมื่อครบกำหนดห้าวันทำการนับแต่วันที่พนักงานไปรษณีย์ได้ส่งหรือวัที่ได้ปิดคำสั่งนั้นไว้ แล้วแต่กรณี

มาตรา 39 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานใดจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 37 โดยไม่มีเหตุอันควรหรือในกรณีที่ปรากฏว่าการประกอบกิจการของโรงงานใดอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และปรับปรุงแก้ไขโรงงานนั้นเสียใหม่หรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดถ้าผู้ประกอบกิจการโรงงานได้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายสั่งให้ประกอบกิจการโรงงานต่อไปได้

ถ้าผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ปรับปรุงแก้ไขโรงงานหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งปิดโรงงานได้ และในกรณีที่เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ให้คำสั่งปิดโรงงานดังกล่าวมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตด้วย

มาตรา 40 คำสั่งให้หยุดประกอบกิจการหรือคำสั่งปิดโรงงาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดประกาศไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ โรงงานนั้นอย่างน้อยสามแห่ง ทั้งนี้ ให้มีข้อความแจ้งให้ทราบด้วยว่าห้ามมิให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงงาน คนงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนทำงานในโรงงานเพื่อให้โรงงานประกอบกิจการต่อไปได้อีกภายหลังมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการหรือคำสั่งปิดโรงงาน

มาตรา 41 คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 37 หรือคำสั่งของปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายให้หยุดประกอบกิจการโรงงานตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง หรือคำสั่งปิดโรงงานตามมาตรา 39 วรรคสาม ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานหรือคำสั่งให้ปิดโรงงาน เว้นแต่รัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

มาตรา 42 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 37 ถ้ามีเหตุที่ทางราชการสมควรเข้าไปดำเนินการแทน ให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือมอบหมายให้บุคคลใดๆ เข้าจัดการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าจัดการนั้นตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับเบี้ยปรับในอัตราร้อยละสามสิบต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าว

ถ้าทางราชการได้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหามลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงงาน ให้ขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินการได้ และเมื่อได้รับเงินตามวรรคหนึ่งจากผู้ประกอบกิจการโรงงานแล้วให้ชดใช้เงินช่วยเหลือที่ได้รับมาคืนแก่กองทุนสิ่งแวดล้อมดังกล่าวต่อไป

มาตรา 43 ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงตลอดเวลาที่ยังประกอบกิจการ ถ้ามิได้เสียค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละห้าต่อเดือน และถ้ายังไม่ยินยอมเสียค่าธรรมเนียมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นหยุดการประกอบกิจการไว้จนกว่าจะได้เสียค่าธรรมเนียมและเงินเพิ่มครบจำนวน และให้นำมาตรา 39 มาตรา 40 และมาตรา 41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 ตามวรรคหนึ่ง ที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11/1 แล้ว รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวง ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวมิได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรอันเกิดจากภัยธรรมชาติหรือภาวะทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมกิจการให้เกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเหตุดังกล่าวก็ได้

มาตรา 43 วรรค 2 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

มาตรา 43/1 ค่าธรรมเนียมรายปีและเงินเพิ่มตามมาตรา 43 สำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 ที่ตั้งอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เฉพาะที่ได้มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11/1 แล้ว

มาตรา 43/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

มาตรา 44 ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด 3
บทกำหนดโทษ
-----------------------

มาตรา 45 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (8) หรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา 46 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 (6) หรือ (7) หรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 47 ผู้ใดทำการตรวจสอบหรือรับรอง หรือจัดทำรายงานผลการตรวจสอบหรือรับรองโดยไม่มีใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ตรวจสอบเอกชนผู้ใดจัดทำรายงานผลการตรวจสอบหรือรับรองอันเป็นเท็จหรือจัดทำรายงานผลการตรวจสอบหรือรับรองในระหว่างที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ทำการตรวจสอบหรือรับรอง หรือจัดทำรายงานผลการตรวจสอบหรือรับรองโดยไม่มีใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง

มาตรา 47 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 47/1 ผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้ใดไม่ดำเนินการตามมาตรา 9 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

มาตรา 47/2 ผู้ตรวจสอบเอกชนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 9/4 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา 47/1 และ 47/2 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 48 ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 โดยไม่ได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 49 ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ผู้ใดแจ้งการประกอบกิจการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา 11 วรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 วรรคห้า หรือมาตรา 33 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 50 ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง หรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่โรงงานตามวรรคหนึ่ง เป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในท้องที่ใดตามประกาศที่ออกตามมาตรา 32 (1) ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 51 ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 18/1 วรรคสอง มาตรา 19 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 19/1 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 28 วรรคหนึ่ง มาตรา 28/1 หรือมาตรา 33 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 51 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 52 ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดขยายโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขยายโรงงานตามมาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่โรงงานตามวรรคหนึ่งเป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ขยายหรือไม่ให้ขยายในท้องที่ใดตามประกาศที่ออกตามมาตรา 32 (1) ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 53 ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 มาตรา 24 หรือมาตรา 25 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา 54 ผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 55 ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานในระหว่างที่ได้มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานหรือภายหลังที่มีคำสั่งให้ปิดโรงงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละห้าพันบาทจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ

สถาปนิกหรือวิศวกรผู้ใดยังฝ่าฝืนทำงานในโรงงานเฉพาะส่วนที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการหรือยังฝ่าฝืนทำงานในโรงงานที่มีคำสั่งปิดโรงงานแล้วเพื่อให้โรงงานประกอบกิจการต่อไป ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการโรงงานตามวรรคหนึ่ง

ผู้ที่ทำงานในโรงงานหรือคนงานผู้ใดยังฝ่าฝืนทำงานในโรงงานเฉพาะส่วนที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการหรือยังฝ่าฝืนทำงานในโรงงานที่มีคำสั่งปิดโรงงานแล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้ร่วมกระทำหรือสนับสนุนการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี แต่ศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้โดยคำนึงถึงฐานะ ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ความจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย และความมีส่วนสำคัญในการกระทำ

มาตรา 56 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 35 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 57 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา 28 วรรคสอง หรือมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจeคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกินห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 57 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มาตรา 58 ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เครื่องจักรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ผูกมัดประทับตราไว้ตามมาตรา 37 วรรคสอง กลับทำงานได้อีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 59 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่บุคคลซึ่งปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายให้เข้าจัดทำเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 60 ผู้ใดกระทำการใดๆ ให้คำสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงานหรือคำสั่งปิดโรงงานชำรุดหรือเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 61 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานกระทำ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าสถาปนิกหรือวิศวกรที่ทำงานในโรงงานและมีหน้าที่รับผิดชอบในการงานส่วนที่มีกรณีการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้น มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในการกระทำความผิดกับผู้ประกอบกิจการโรงงานและต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการโรงงาน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยกับการกระทำความผิดนั้น

นอกจากต้องรับโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ปลัดกระทรวงแจ้งชื่อและการกระทำของบุคคลเช่นว่านั้นให้คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมตามควรแก่กรณีต่อไป

มาตรา 62 ผู้ใดเคยถูกลงโทษเพราะเหตุกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้แล้วครั้งหนึ่ง ถ้าได้กระทำความผิดในบทบัญญัติเดียวกันกับที่เคยถูกลงโทษแล้วนั้นซ้ำอีก ให้ศาลพิจารณาเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอย่างน้อยอีกหนึ่งในสามของอัตราโทษจำคุกหรือเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับสำหรับความผิดนั้น

มาตรา 63 ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือนิติบุคคลอื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นความผิดนั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

มาตรา 64 ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าบุคคลผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับโรงงานที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 65 ให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ตามความเหมาะสม

คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีแต่ละคณะให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านกฎหมายจำนวนสามคน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี แต่เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ การประชุม และวิธีพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบคดี ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาบรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ความผิดตามมาตรา 50 วรรคสองหรือมาตรา 52 วรรคสอง ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ถ้าเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรถูกฟ้องร้องหรือได้รับโทษถึงจำคุก และเมื่อผู้ต้องหาได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบปรับ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในกรณีที่พนักงานสอบสวนพบว่าผู้ใดกระทำความผิดตามวรรคสี่และผู้นั้นยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ

บทเฉพาะกาล
-----------------------

มาตรา 66 คำขออนุญาตใดๆ ที่ได้ยื่นไว้ และการอนุญาตใดๆ ที่ได้ให้ไว้และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้อนุญาต หรือการปฏิบัติของผู้ขออนุญาตตามที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณี ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตหรือการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ในกรณีที่คำขออนุญาตหรือการอนุญาตดังกล่าวมีข้อแตกต่างไปจากคำขออนุญาต หรือการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 67 ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ออกให้แก่บุคคลใดๆ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนสิ้นอายุที่กำหนดไว้

ให้ถือว่าใบอนุญาตตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานดังกล่าวมีหน้าที่ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 68 บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

     ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

              อานันท์ ปันยารชุน

                 นายกรัฐมนตรี

 

 

อัตราค่าธรรมเนียม
-----------------------

(1) คำขอ                                                           ฉบับละ                100 บาท

(2) ใบอนุญาต                                                    ฉบับละ        300,000 บาท

(3) การอนุญาตให้ขยายโรงงานให้เป็นไปตามอัตราใน (2)

(4) การโอนใบอนุญาต                                         ฉบับละ              5,000 บาท

(5) ใบแทนใบอนุญาต                                          ฉบับละ              5,000 บาท

(6) การแจ้งกรณีได้รับยกเว้นการขยายโรงงาน

     หรือกรณีลดหรือเพิ่มเครื่องจักรแต่ไม่เข้าข่าย

     ขยายโรงงาน หรือการเพิ่มเนื้อที่อาคารโรงงาน

     หรือการก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มขึ้น              ครั้งละ              15,000 บาท

(7) ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง                      ฉบับละ              5,000 บาท

(8) การต่ออายุใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง

      ให้เป็นไปตามอัตราใน (7)

(9) ใบแทนใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง            ฉบับละ                500 บาท

(10) ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงาน ปีละ              100,000 บาท

อัตราค่าธรรมเนียม แก้ไขโดยพระราชบัญญัติ โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

 

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันและไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากกำหนดให้โรงงานทุกลักษณะต้องขออนุญาตเช่นเดียวกันทั้งๆ ที่ตามสภาพที่เป็นจริงโรงงานต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างกัน โรงงานบางประเภทไม่จำเป็นจะต้องควบคุมดูแลการตั้งโรงงาน เพียงแต่ดูแลการดำเนินงานเท่านั้น คงมีแต่โรงงานบางประเภทที่อาจเกิดอันตรายจากการประกอบกิจการได้เท่านั้นที่ควรจะควบคุมการจัดตั้งอย่างเคร่งครัด จึงสมควรปรับปรุงระบบการควบคุมดูแลให้สอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการด้วยการให้โรงงานบางลักษณะอาจประกอบกิจการได้ภายใต้ระบบการกำกับตามปกติ และโรงงานบางลักษณะจะต้องแจ้งให้ทราบก่อนจึงจะเริ่มประกอบกิจการได้ โดยคงมีแต่โรงงานบางลักษณะที่จำเป็นเท่านั้นที่จะยังคงใช้ระบบการอนุญาต และสมควรปรับปรุงวิธีการอนุญาตให้เหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีการประสานงานกันระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตตามกฎหมายให้พิจารณาลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกันเพื่อความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและสมควรปรับปรุงการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานให้เป็นไปโดยได้ผลยิ่งขึ้นด้วยการให้มีการออกกฎเพื่อกำหนดขอบเขตการประกอบกิจการโรงงานให้ชัดเจน และกำหนดขั้นตอนการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งเพื่อบังคับให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมกับปรับปรุงอัตราโทษและกำหนดให้มีการร่วมรับผิด สำหรับผู้ที่ทำงานในโรงงานนอกเหนือจากเจ้าของโรงงานเพื่อให้การควบคุมโรงงานเป็นไปอย่างได้ผลยิ่งขึ้น จึงจำ เป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.

   

                                  ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1                                      



  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th