พระราชบัญญัติ
การมาตรฐานแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๕๑
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการมาตรฐานแห่งชาติ
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“มาตรฐาน” หมายความว่า ข้อกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างซึ่งเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) ผลิตภัณฑ์ วิธีการ กระบวนการผลิต ส่วนประกอบ โครงสร้าง มิติ ขนาด แบบ รูปร่าง น้ำหนัก ประสิทธิภาพ สมรรถนะ ความทนทาน หรือความบริสุทธิ์ของผลิตภัณฑ์
(๒) หีบห่อ การบรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมาย หรือฉลาก
(๓) วิธีการ กระบวนการ คุณลักษณะ ประสิทธิภาพ หรือสมรรถนะ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการ
(๔) ระบบการบริหารหรือการจัดการเกี่ยวกับคุณภาพ สุขอนามัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย หรือระบบอื่นใด
(๕) นิยาม แนวทาง ข้อแนะนำ หน่วยวัด การทดสอบ การสอบเทียบ การทดลอง การวิเคราะห์ การวิจัย การตรวจ การรับรอง การตรวจประเมิน ที่เกี่ยวกับ (๑) (๒) (๓) (๔) หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการมาตรฐาน
“การมาตรฐาน” หมายความว่า กระบวนการที่ใช้ในการดำเนินงานทั้งปวงเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรอง และมาตรวิทยา
“การตรวจสอบและรับรอง” หมายความว่า กระบวนการที่ใช้ในการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทดสอบ สอบเทียบ ตรวจ หรือรับรองด้านการมาตรฐาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ ระบบการบริหารหรือการจัดการ บุคลากร องค์กร หรือกิจกรรมอื่น ๆ มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
“ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง” หมายความว่า บุคคลหรือหน่วยงานที่ให้บริการ การตรวจสอบและรับรอง
“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองซึ่งได้รับใบอนุญาตและต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้รับใบรับรอง” หมายความว่า ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองซึ่งได้รับใบรับรองและมีสิทธิแสดงเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้ประกอบกิจการ” ให้หมายความรวมถึง ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผู้ให้บริการที่ใช้บริการการตรวจสอบและรับรองจากผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง
“ผู้อนุญาต” หมายความว่า เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมาย
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ
“หน่วยงานที่รับผิดชอบ” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐที่คณะกรรมการมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินงานด้านการมาตรฐาน
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่
(๑) ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ
(๒) การมาตรฐานในเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว
หน่วยงานของรัฐตาม (๑) ที่ประสงค์จะใช้หรือแสดงเครื่องหมายตามมาตรา ๔๕ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ
-----------------------
มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “กมช.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายกสภาวิศวกรหรือผู้แทน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการมาตรฐานซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการสำนักงานไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องด้านการมาตรฐาน ทั้งนี้ ให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้ง
มาตรา ๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริม พัฒนา และดำเนินการด้านการมาตรฐานของประเทศ
(๒) กำหนดนโยบายหรือส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือหรือให้มีการทำความตกลงกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการมาตรฐานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันด้านการมาตรฐาน
(๓) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโฆษณาของผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองและผู้ประกอบกิจการ
(๔) พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของผู้อนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) กำหนดเครื่องหมายมาตรฐานบังคับสำหรับผู้รับใบอนุญาตหรือเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปสำหรับผู้รับใบรับรองตามพระราชบัญญัตินี้
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการบริหาร ที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันที่แต่งตั้ง
มาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าหกสิบวันให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่เพื่อดำรงตำแหน่งแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งจะพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น
มาตรา ๑๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระและยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว แต่ยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่
มาตรา ๑๒ การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
การประชุมของคณะกรรมการ ให้ประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน
ในกรณีที่ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนโดยให้ประธานในที่ประชุมงดออกเสียง เว้นแต่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้านการมาตรฐานคณะหนึ่งหรือหลายคณะตามความเหมาะสมซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการเฉพาะด้านมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ประกาศกำหนด แก้ไข หรือยกเลิกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรอง
(๒) กำหนดมาตรการในการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เกี่ยวกับการมาตรฐานหรือเกี่ยวกับกฎระเบียบหรือข้อมูลทางวิชาการด้านการมาตรฐานของต่างประเทศ
(๓) ประกาศกำหนดอัตราค่าบริการ หรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการตรวจสอบหรือการประเมินผลให้แก่ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง หรือประกาศกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับการตรวจสอบและรับรองให้แก่ผู้ประกอบกิจการ
(๔) รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ประกาศตาม (๑) หรือ (๓) เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
คณะกรรมการเฉพาะด้านแต่ละคณะให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน
กรรมการเฉพาะด้านตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการมาตรฐานในด้านที่ได้รับแต่งตั้ง ทั้งนี้ ให้มีกรรมการเฉพาะด้านจากภาคเอกชนด้วย
ให้นำมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับแก่กรรมการเฉพาะด้านโดยอนุโลม
การประชุมของคณะกรรมการเฉพาะด้าน ให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔ คณะกรรมการและคณะกรรมการเฉพาะด้านจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการเฉพาะด้านมอบหมายก็ได้
การประชุมของคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๕ ให้คณะกรรมการ คณะกรรมการเฉพาะด้าน และคณะอนุกรรมการมีอำนาจเรียกให้บุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้
มาตรา ๑๖ ให้กรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ กรรมการเฉพาะด้าน และอนุกรรมการได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ในการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อนำผลการตรวจสอบมาประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ หรือใบรับรองตามมาตรา ๒๘ หรือการตรวจสอบหรือประเมินผลตามมาตรา ๓๓ (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มาตรา ๑๗ ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการรับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาหาข้อมูล และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการคณะกรรมการเฉพาะด้าน และคณะอนุกรรมการ
หมวด ๒
ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง
-----------------------
มาตรา ๑๘ เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขอนามัย ความปลอดภัย หรือสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการเฉพาะด้านจะประกาศกำหนดให้การตรวจสอบและรับรองในสาขาใดที่ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองต้องได้รับใบอนุญาตและต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับในสาขานั้นก็ได้
เมื่อคณะกรรมการเฉพาะด้านประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองประกอบการตรวจสอบและรับรองในสาขาที่ได้ประกาศกำหนดนั้น เว้นแต่จะได้รับการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับในสาขาที่ได้รับใบอนุญาต
การขอใบอนุญาต การตรวจสอบ และการออกใบอนุญาตตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๙ ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองที่ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
(๕) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตแต่เวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน
ถ้าผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองที่ขอรับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง และต้องไม่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตตาม (๕)
มาตรา ๒๐ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ให้ใช้กับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองที่ระบุชื่อไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น
ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบกิจการการตรวจสอบและรับรองในสาขาที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ต่อไปได้โดยถือว่าเป็นผู้รับใบอนุญาตจนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
อายุใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๑ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ สิ้นอายุ เมื่อ
(๑) ผู้รับใบอนุญาตเลิกประกอบกิจการ
(๒) ใบอนุญาตถูกเพิกถอนตามมาตรา ๔๑
(๓) ผู้รับใบอนุญาตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙
(๔) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคล ให้ใบอนุญาตสิ้นอายุนับแต่วันที่เลิกห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลนั้นสิ้นสภาพ
(๕) เมื่อมีการประกาศกำหนด แก้ไข หรือยกเลิกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองในสาขาการตรวจสอบและรับรองที่ได้รับใบอนุญาต หากผู้รับใบอนุญาตได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในสาขาการตรวจสอบและรับรองใหม่หรือที่แก้ไข ให้ใบอนุญาตเดิมยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปได้ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๒ ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำการของผู้รับใบอนุญาตที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุดเสียหายในสาระสำ คัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตขอรับใบแทนจากผู้อนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบการสูญหายหรือชำรุดเสียหายดังกล่าว
การขอใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๔ การย้ายสถานที่ทำการของผู้รับใบอนุญาตที่ระบุไว้ในใบอนุญาตต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๕ การโอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ให้แก่บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตให้โอนใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
การขอโอนใบอนุญาตและการอนุญาตให้โอนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๖ ผู้รับใบอนุญาตซึ่งจะเลิกประกอบกิจการต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบล่วงหน้าก่อนเลิกประกอบกิจการไม่น้อยกว่าหกสิบวัน เมื่อเลิกประกอบกิจการแล้วให้ส่งคืนใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกประกอบกิจการ
มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานคณะกรรมการเฉพาะด้านจะประกาศกำหนดให้การตรวจสอบและรับรองในสาขาใดที่ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองจะขอใบรับรองให้มีสิทธิแสดงเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปในสาขานั้นก็ได้
มาตรา ๒๘ ในกรณีที่คณะกรรมการเฉพาะด้านประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๗ แล้ว ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองที่ประสงค์จะขอเป็นผู้รับใบรับรองในสาขาซึ่งได้ประกาศกำหนดนั้นต้องได้รับการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับใบรับรองจากผู้อนุญาต
การขอใบรับรอง การตรวจสอบ และการออกใบรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๙ ให้นำมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ (๕) มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับแก่ผู้รับใบรับรองโดยอนุโลม
อายุและการสิ้นอายุของใบรับรอง ให้นำมาตรา ๒๐ วรรคสาม และมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๐ ในกรณีที่มีหน่วยงานของรัฐดำเนินการเกี่ยวกับการมาตรฐานในเรื่องใดอยู่แล้ว ให้คณะกรรมการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐนั้นเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการมาตรฐานในเรื่องนั้นและให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการเฉพาะด้านตามมาตรา ๑๓
ในกรณีที่คณะกรรมการมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใดมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการเฉพาะด้านตามวรรคหนึ่ง หากบทบัญญัติมาตราใดในหมวดนี้บัญญัติให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการเฉพาะด้านให้ถือว่าบทบัญญัติมาตรานั้นบัญญัติให้เป็นอำนาจของหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้น
หมวด ๓
การควบคุม
-----------------------
มาตรา ๓๑ ห้ามผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง
(๑) โฆษณาหรือกล่าวอ้างว่าตนทำการตรวจสอบและรับรองในสาขาที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ หรือใบรับรองตามมาตรา ๒๘ เกินความจริง
(๒) โฆษณาหรือกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองอันเป็นเท็จ
(๓) มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์กับผู้ประกอบกิจการ
มาตรา ๓๒ ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองหรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบและรับรองที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ในกรณีที่โฆษณาเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) ในกรณีที่ตรวจพบความบกพร่องหรือผิดพลาดในผลการตรวจสอบและรับรองต้องแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการทราบ และดำเนินการแก้ไขความบกพร่องหรือผิดพลาดนั้นทันที
(๔) ต้องแจ้งให้สำนักงานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แล้วแต่กรณี ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตรวจพบความบกพร่องหรือผิดพลาดในผลการตรวจสอบและรับรองตาม (๓)
มาตรา ๓๓ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ
(๑) เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ผู้รับใบอนุญาต ผู้รับใบรับรอง หรือผู้ประกอบกิจการในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบหรือประเมินผลการดำเนินงาน
(๒) สั่งให้ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ผู้รับใบอนุญาต ผู้รับใบรับรอง ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ถ้อยคำหรือหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องและแก้ไขความบกพร่องหรือผิดพลาดที่ตรวจพบ
(๓) สั่งให้ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ผู้รับใบอนุญาต ผู้รับใบรับรอง ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้เกี่ยวข้อง ยุติการโฆษณาใด ๆ ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นเท็จหรือเกินความจริงหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(๔) ยึดหรืออายัดผลิตภัณฑ์หรือสิ่งใดที่มีการใช้ข้อความหรือเครื่องหมายซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๒ (๑) หรือ (๒) หรือที่ใช้ผลการตรวจสอบและรับรองที่บกพร่องหรือผิดพลาดตามมาตรา ๓๒ (๓) หรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๔ ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๓๓ (๔) นั้น ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองใช้ข้อความหรือเครื่องหมายกับผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นเท็จหรือเกินความจริงหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๒ (๑) หรือ (๒) หรือที่ใช้ผลการตรวจสอบและรับรองที่บกพร่องหรือผิดพลาดตามมาตรา ๓๒ (๓) ผู้อนุญาตอาจสั่งให้แก้ไขหรือปรับปรุงให้ถูกต้อง หรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๒ (๑) หรือ (๒) หรือสั่งให้ทำลายข้อความหรือเครื่องหมายนั้น หรือทำให้ข้อความหรือเครื่องหมายนั้นหลุดพ้นจากผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ก็ได้ หากไม่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้หรือไม่สามารถทำลายข้อความหรือเครื่องหมายนั้นหรือทำให้ข้อความหรือเครื่องหมายนั้นหลุดพ้นจากผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ได้ ก็อาจสั่งให้ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ได้ยึดหรืออายัดไว้นั้นให้สิ้นสภาพ โดยให้ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแก้ไข การปรับปรุง การทำให้สิ้นสภาพ หรือการทำลายข้อความหรือเครื่องหมายนั้นหรือการทำให้ข้อความหรือเครื่องหมายนั้นหลุดพ้นจากผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ได้ยึดหรืออายัดไว้
(๒) ในกรณีที่ไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้ยึดหรืออายัด หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษาให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดหรือวันที่ได้รับแจ้งว่าไม่มีการฟ้องคดี แล้วแต่กรณี ให้ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้ผู้อนุญาตมีอำนาจจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร
(๓) ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เป็นของเสียง่ายหรือถ้าเก็บไว้จะเสี่ยงต่อความเสียหายหรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินค่าของผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้น ผู้อนุญาตจะจัดการขายทอดตลาดผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้นเสียก่อนคดีจะถึงที่สุดหรือก่อนที่จะตกเป็นของแผ่นดินก็ได้ เงินค่าขายผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้นเมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าภาระติดพันทั้งปวงแล้วเหลือเงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ถือไว้แทนผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้น
มาตรา ๓๕ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีบัตรประจำ ตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานจ้าหน้าที่ต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
มาตรา ๓๖ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๓
มาตรา ๓๗ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ กรรมการเฉพาะด้าน อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองหรือหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ ก่อนจะดำเนินการตามมาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๑ แล้วแต่กรณี สำนักงานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเตือนเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้รับใบรับรองปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่เป็นเหตุลบล้างความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการเตือนเป็นหนังสือตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
กรณีใดที่จะเตือนเป็นหนังสือก่อนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองหรือหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการตรวจสอบและรับรองที่คณะกรรมการกำหนดในสาขาใด ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งลดการตรวจสอบและรับรองในสาขานั้นได้
ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งลดการตรวจสอบและรับรองในสาขาใดตามวรรคหนึ่งจะประกอบการตรวจสอบและรับรองและจะแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับสำหรับการตรวจสอบและรับรองในสาขานั้นไม่ได้
ผู้รับใบรับรองซึ่งถูกสั่งลดการตรวจสอบและรับรองในสาขาใดตามวรรคหนึ่งจะแสดงเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปสำหรับการตรวจสอบและรับรองในสาขานั้นไม่ได้
มาตรา ๔๐ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองไม่ปฏิบัติตามหนังสือเตือนตามมาตรา ๓๘ ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้หรือมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองหรือหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งไม่ต้องเตือนเป็นหนังสือก่อน ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับรองในสาขาใดได้ไม่เกินครั้งละสามเดือน
ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะประกอบการตรวจสอบและรับรองและจะแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับตามใบอนุญาตนั้นในระหว่างที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตในสาขานั้นไม่ได้
ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบรับรองจะแสดงเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปตามใบรับรองนั้นในระหว่างถูกพักใช้ใบรับรองในสาขานั้นไม่ได้
มาตรา ๔๑ ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับรอง เมื่อปรากฏว่า
(๑) ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองเคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับรองแล้วมากระทำผิดอีกภายในห้าปี
(๒) ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจหรือต่อประโยชน์สาธารณะ
(๓) ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองกระทำความผิดตามมาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๕๗
ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับรอง แล้วแต่กรณีตามวรรคหนึ่ง จะขอใบอนุญาตหรือใบรับรองสำหรับการตรวจสอบและรับรองในสาขานั้นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นหกเดือนนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง
มาตรา ๔๒ การสั่งลดการตรวจสอบและรับรองในสาขาใดตามมาตรา ๓๙ การสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับรองในสาขาใดตามมาตรา ๔๐ และการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับรองตามมาตรา ๔๑ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๔๓ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาต ผู้ขอรับใบรับรอง หรือผู้รับใบรับรองแล้วแต่กรณี มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของผู้อนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของผู้อนุญาต
ให้คณะกรรมการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้อนุญาต
มาตรา ๔๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้สำนักงานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แล้วแต่กรณีประกาศรายชื่อผู้รับใบอนุญาตหรือรายชื่อผู้รับใบรับรองที่ถูกสั่งลดการตรวจสอบและรับรองในสาขาใดตามมาตรา ๓๙ ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือใบรับรองในสาขาใดตามมาตรา ๔๐ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับรองตามมาตรา ๔๑ หรือประกาศผลการตรวจสอบหรือการประเมินตามมาตรา ๓๓ (๑) ให้ผู้บริโภคหรือประชาชนทราบเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองผู้บริโภคหรือประชาชน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด ๔
เครื่องหมาย
-----------------------
มาตรา ๔๕ ให้คณะกรรมการกำหนดเครื่องหมายดังต่อไปนี้
(๑) เครื่องหมายมาตรฐานบังคับสำหรับผู้รับใบอนุญาต
(๒) เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปสำหรับผู้รับใบรับรอง
ลักษณะ การทำเครื่องหมาย การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมายตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องหมายตามมาตรา ๔๕ เว้นแต่เป็นผู้รับใบอนุญาต ผู้รับใบรับรองหรือผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้รับใบอนุญาต ผู้รับใบรับรอง หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔ วรรคสอง แล้วแต่กรณี
หมวด ๕
บทกำหนดโทษ
-----------------------
มาตรา ๔๗ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุใดตามมาตรา ๑๕ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๓ (๒) หรือ (๓) หรือไม่อำนวยความสะดวกไม่ช่วยเหลือ หรือไม่ให้คำชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๔๘ ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ วรรคสองต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๔๙ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ วรรคสาม มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๕๐ ผู้รับใบรับรองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๒๖ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙
มาตรา ๕๑ ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ (๒) โดยโฆษณาหรือกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๕๒ ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ (๑) หรือ (๓) หรือมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๕๓ ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๓ (๑) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๔ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ วรรคสองหรือวรรคสาม หรือมาตรา ๔๐ วรรคสองหรือวรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๕๕ ผู้ใดเลียนเครื่องหมายตามมาตรา ๔๕ เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายเช่นว่านั้น หรือใช้เครื่องหมายอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๕๖ ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองผู้ใดจัดทำผลการตรวจสอบและรับรองอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๗ ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง เพื่อให้มีการออกผลการตรวจสอบและรับรองโดยมิชอบต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อกระทำการตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๕๘ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าผู้แทนนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ และบุคคลอื่นใดซึ่งกระทำการแทนนิติบุคคล เป็นผู้กระทำความผิดและต้องระวางโทษเช่นเดียวกับนิติบุคคลนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น
มาตรา ๕๙ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวให้คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และคณะกรรมการอาจมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการใช้อำนาจดังกล่าวด้วยก็ได้
เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
บทเฉพาะกาล
-----------------------
มาตรา ๖๐ ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองที่ได้รับใบรับรองการประกอบการตรวจสอบและรับรองก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงานตามมติคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าเป็นผู้รับใบรับรองตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าใบรับรองนั้นเป็นใบรับรองตามพระราชบัญญัตินี้และให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ
ให้ถือว่าเครื่องหมายที่ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองที่ได้รับใบรับรองจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงานตามวรรคหนึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับอันเป็นเครื่องหมายรับรองที่สำนักงานได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี
อัตราค่าธรรมเนียม
-----------------------
๑. คำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท
๒. คำขอรับใบรับรองตามมาตรา ๒๘ ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท
๓. ค่าตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต ครั้งละ ๒๐,๐๐๐ บาท
ตามมาตรา ๑๘
๔. ค่าตรวจสอบคำขอรับใบรับรอง ครั้งละ ๔๐,๐๐๐ บาท
ตามมาตรา ๒๘
๕. ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท
๖. ใบรับรองตามมาตรา ๒๘ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท
๗. ใบแทนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท
๘. ใบแทนใบรับรองตามมาตรา ๒๘ ฉบับละ ๑๐,๐๐๐ บาท
๙. การต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ หรือใบรับรองตามมาตรา ๒๘ ครั้งละกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือใบรับรองนั้น ๆ แต่ละฉบับ
ในการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงขนาด ลักษณะ หรือสาขาของการตรวจสอบและรับรองก็ได้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการดำเนินการเกี่ยวกับการมาตรฐานของประเทศดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหลายแห่งทำให้ขาดความเป็นเอกภาพด้านการมาตรฐาน ประกอบกับในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองเพื่อให้ได้รับความเชื่อถือจากผู้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน รวมทั้งผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สมควรกำหนดให้มีคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแลและประสานงานด้านการมาตรฐานของประเทศให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๔๒ ก ราชกิจจานุเบกษา ๔ มีนาคม ๒๕๕๑