ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว
ลิฟต์โดยสารชั่วคราว และลิฟต์ที่ใช้ทั้งขนส่งวัสดุและโดยสารชั่วคราว
พ.ศ. ๒๕๕๓
-----------------------
โดยที่กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว ลิฟต์โดยสารชั่วคราวและลิฟต์ที่ใช้ทั้งขนส่งวัสดุและโดยสารชั่วคราวเป็นประจำทุกเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๘๐ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว ลิฟต์โดยสารชั่วคราวและลิฟต์ที่ใช้ทั้งขนส่งวัสดุและโดยสารชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๓”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมวด ๑
บททั่วไป
-----------------------
ข้อ ๓ นายจ้างที่มีการใช้ลิฟต์ที่มีความสูงตั้งแต่ ๙ เมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีการตรวจสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว ลิฟต์โดยสารชั่วคราว และลิฟต์ที่ใช้ทั้งขนส่งวัสดุและโดยสารชั่วคราว ภายใต้การควบคุมโดยวิศวกรอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง
ข้อ ๔ ขณะที่มีการตรวจสอบส่วนประกอบ อุปกรณ์ หรือระบบควบคุมการทำงานของลิฟต์ นายจ้างต้องมีการใส่กุญแจ หรือจัดให้มีระบบระมัดระวังป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปใกล้หรือใช้ลิฟต์ พร้อมทั้งติดป้าย “ห้ามใช้ลิฟต์” ให้ชัดเจน
ข้อ ๕ นายจ้างต้องแสดงข้อมูลและรายละเอียดทั่วไปของลิฟต์ ดังนี้
(๑) ยี่ห้อและประเทศผู้ผลิต
(๒) รุ่น หมายเลขเครื่องและปีที่ผลิต
(๓) น้ำหนักยกหรือพิกัดยกมากสุดของลิฟต์
(๔) ชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า
(๕) แบบรายการคำนวณ และข้อมูลของวิศวกรผู้ออกแบบ กรณีเป็นลิฟต์ที่นายจ้างสร้างลิฟต์เอง
หมวด ๒
ลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว ลิฟต์โดยสารชั่วคราว
และลิฟต์ที่ใช้ทั้งขนส่งวัสดุและโดยสารชั่วคราว
-----------------------
ข้อ ๖ กรณีที่นายจ้างมีการใช้ลิฟต์ ต้องจัดให้มีการตรวจสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของลิฟต์ ให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน หัวข้อ ดังนี้
(๑) โครงสร้างของลิฟต์
(๒) รอยเชื่อมต่อ
(๓) สลักเกลียว แป้นเกลียวและหมุดย้ำ
(๔) ฐานที่รองรับและจุดยึดต่าง ๆ
(๕) กว้าน หรือตะขอยก
(๖) ระบบรอก เช่น สลัก ลูกปืน เพลา เฟือง
(๗) เบรกหรืออุปกรณ์ควบคุมการหยุด
(๘) ลวดสลิง
(๙) ระบบหล่อลื่น
(๑๐) สิ่งป้องกันอันตรายต่อผู้ใช้งานจากส่วนที่เคลื่อนที่ได้
(๑๑) อุปกรณ์ประคองสายไฟฟ้า
(๑๒) ระบบการควบคุมการหยุด ระบบควบคุมน้ำหนักเกิน
(๑๓) ระบบนิรภัยอัตโนมัติ
(๑๔) ระบบไฟฟ้า
(๑๕) ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ผู้ผลิตกำหนดให้มีการตรวจสอบ
ประกาศ ณ วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
อัมพร นิติสิริ
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๐๖ ง ราชกิจจานุเบกษา ๓ กันยายน ๒๕๕๓